ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ธรรมทาน

ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ทางธรรม

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

(313) สภาวธรรม "วันพ่อ ๕ ธันวามหาราช"

 
 
 
สภาวธรรม “วันพ่อ ๕ ธันวามหาราช”

เช้านี้วันดีเป็นศรีวันพ่อ 
ลูกขอนั่งภาวนาถวาย
จิตสงบสุขแลสบายกาย 
สว่างไสวไปทั่วอินทรีย์
จิตพิจารณาธรรมข้อนี้ 
ตั้งแต่ตีสี่จนถึงรุ่งเช้า
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เป็นคราวคราว 
พอรุ่งเช้าจิตจึงถอนออกมา

แผ่เมตตาแล้วจิตยังสงบ 
จิตปรารภขอภาวนาต่อหนา
จึงเอนกายลงนอนภาวนา 
เพียงห้านาทีจิตถอดจากกาย
จงกรมภาวนาซ้ายขวาซ้าย 
มีแต่ใจเบาหวิวลอยขึ้นฟ้า
พลันเสียงระเบิดดังปั้งตามมา 
จิตรู้ว่า นี้คือสภาวธรรม

จิตปีติเบาหวิวอย่างประหลาด 
สู่นภากาศว่างสว่างล้ำ
นี่ล่ะหนอคือปีติแห่งธรรม 
สุขเลิศล้ำเกินกว่าคำบรรยาย
ขอบุญนี้ถวายแด่พระองค์ท่าน 
จงดลบันดาลให้ทุกข์โศกหาย
สว่างไสวทั้งพระวรกาย 
พระหฤทัยจงทรงพระเจริญ

ธรรมใดใดที่ได้บังเกิดแล้ว 
ขอพรแก้วรัตนะสรรเสริญ
แผ่ถึงทุกท่านโดยพลันเทอญ 
ขอเจริญธรรมแลเจริญใจ
ขอให้มีความสุขสวัสดี 
ตลอดปีนี้และตลอดไป
ขอให้สว่างไสวทั้งกายใจ 
แลขอให้ถึงนิพพานทุกท่านเทอญ

เหตุเกิดเมื่อเช้านี้
ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
๕ ธันวาคม ๒๕๕๖




วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

(307) นิราศหนองคาย ๒๕๕๖ "สภาวธรรมตามนิมิต"

๑๖-๑๗ พฤศจิกาพาไปถึง
ที่แห่งหนึ่งซึ่งผูกพันมาก่อนหนา
ไปตามสัจจะที่เอ่ยสัญญา
ว่าผู้ข้ามาสร้างบุญบารมี
เมื่อคืนก่อนเธอผู้อยู่ในโลกทิพย์
มากระซิบเป็นนัยจิตวิถี
ว่าข้าบาทคือนางนาคี
สถิตอยู่ที่บ่อน้ำโบราณ


พอรุ่งเช้ามีบุรุษโทรมาหา
ว่าหลวงตา(เณร)ผู้เคร่งกัมมัฏฐาน
ขอแรงบุญบารมีของอาจารย์
มาอธิษฐานช่วยกันอีกครา
ปีก่อนพากันไปภูเขาควาย
บากบั่นกันไปตามปรารถนา
สร้างพระพุทธรูปไว้บูชา
ณ แผ่นพสุธาประเทศลาว


ปีนี้ หลวงตาสร้างพระองค์ใหญ่
ประดิษฐานไว้ข้างพระองค์ขาว
นับเป็นองค์ที่สิบต่อจากลาว
บนปฐพีชาวเมืองหนองคาย
จึ่งนำพระบรมสารีริกธาตุ
แลวัตถุธาตุไปบรรจุไว้
เพื่อสืบพุทธศาสนาต่อไป
ประกาศไว้แผ่นดินนี้มีธรรม


ราตรีก่อนวันลอยกระทงปีนี้
มีพิธีสมโภชตั้งแต่หัวค่ำ
กวนข้าวทิพย์ด้วยสาวพรหมจรรย์
จุดตะไลคั่นกันตามประเพณี
มุมหนึ่งมีเทพแฝงร่างสังขาร
แผ่ญาณผ่านร่างสตรีผิวสี
ใครจะให้ช่วยรีบมาอย่ารอรี
ปู่ตาเจ้านี้มาจากฝั่งลาว


โอ้หนอ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์
ชั่งแสนทุกข์สุดแท้จริงหนอท้าว
มีความสุขบ้างก็แสนชั่วคราว
เธอท้าวก้าวไปในวงพิธี
หนุ่มนี้สาวนั่นคลานเข้าไปหา
ขอปู่ตาปลดทุกข์ที่เป็นอยู่นี้
ปู่ตาบอกสารพัดวิธี
คราวนี้คงหายแน่กันทุกคน


อีกมุมหนึ่ง บุรุษผู้ยังโง่เขลา
พิจารณาเข้าในความสับสน
เห็นความสุขทุกข์ทั้งเทพทั้งคน
ปะปนอลหม่านทั้งเขาทั้งเรา
มนุษย์สุขทุกข์ก็แบบมนุษย์
เทวดาสุขทุกข์ก็แบบเขา
สัตว์โลกล้วนมีทุกข์ไม่สร่างเซา
มีสุขใดเล่าที่เจ้าว่ามี


เราผู้โง่เขลาภาวนาเพียรพร่ำ
ยังบอกย้ำตัวเองว่าทุกข์อีหลี
แล้วผู้ยังหลงเพลินอยู่ในวารี
ยังสุขดีกันอยู่หรืออย่างไร
จงกรมภาวนาไปตามถนน
เห็นผู้คนมีทุกข์มากแค่ไหน
ใจเรายิ่งทุกข์มากกว่าใครใคร
น้ำตาจึงไหลออกมาคลอคลอ


กลับมานั่งภาวนาต่อ
เราขออุทิศให้ท่านตามคำขอ
ชาวโลกทิพย์โลกวิญญาณที่มารอ
อีกทั้งขอให้ทุกคนที่มา
บุญใดใดที่เราสร้างสมมาดี
ขอให้สุขีทั้งกายใจหนา
ทุกข์โศกเศร้าที่เคยมีมา
ขอธรรมรักษาทุกท่านเทอญ


ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖









วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

(299) สภาวะของพระโสดาบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล

ท่านทั้งหลาย ผู้ใดเห็นกายในของนักภาวนาท่านใดเป็น "พระ" หรือเห็นดวงจิตของท่านนั้นใสแล้ว จะด้วยญาณในหรือตาทิพย์ก็ดี ก็อย่าได้สงสัยในความเป็น "พระอริยะ" หรือ "อริยบุคคล" ของท่านนั้นเป็นอันขาด เพื่อจะได้ไม่ก้าวล่วงจนเกิดกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังจะเห็นได้จากคำสอนของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ดังนี้


 

ใจเทวดา - ใจพรหม - ใจพระ

ถ้าหากว่า ช่วงใด ใจของเรามี "หิริ" ความละอายบาป
"โอตตัปปะ" กลัวสะดุ้งต่อบาป ไม่กล้าที่จะทำบาป
ทั้งในที่ลับ ที่แจ้ง ในขณะนั้น ใจของเราเป็น "เทวดา"
แต่ กายของเราเป็นมนุษย์...


หากว่า ในขณะใด ที่เรามาบำเพ็ญสมาธิภาวนา
ทำให้จิตมีสมาธิ สงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน
บรรลุฌานตามลำดับ หรือ มีสมาธิแน่วแน่
รู้ธรรมเห็นธรรม ในช่วงนั้น กายของเราเป็นมนุษย์
แต่ จิตใจของเรา ก็เป็น "พระพรหม"
พระพรหม คือ ผู้มีใจสว่างไสว เบิกบานแช่มชื่น

ถ้าในอันดับนั้น ใจของเรานี้ ละกิเลสบาปกรรม
ละสังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ลีลัพพตปรามาส
ได้เด็ดขาด มีความรักตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย
ไม่คลอนแคลน "สามารถสละชีวิต" เพื่อ บูชาข้อวัตรปฏิบัติ
ตามหลักคำสอน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ไม่ย่อท้อ … ในช่วงนั้น กายของเราเป็นมนุษย์
แต่ ใจของเรา มันกลายเป็น "พระ"
เป็นพระอริยเจ้า ขั้นพระโสดาบัน
(พระธรรมคำสอน...หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)
 
นอกจากนั้น ยังมีคำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง ท่านได้กล่าวถึง สภาวะของพระโสดาบันดังนี้
 
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระโสดาบัน

เมื่อจิตเข้าถึงพระโสดาบัน คือ มีความมั่นคง มีความแน่วแน่ว่า เวลานี้เราเป็นพระโสดาบัน ถ้าญาติโยมจะย้อนถามว่าจะรู้ได้อย่างไร ก็ขอตอบว่ารู้แน่ การเจริญธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเ
จ้า มีญาณเป็นเครื่องรู้ ญาณจะบอกคือ

๑. จิตจะมีความมั่นคง
๒. อารมณ์จะมีความสุข
๓. จะเห็นว่าความตายเป็นของธรรมดา เราต้องตายแน่
๔. จิตจะไม่ห่วงชีวิต ไม่กลัวความตาย
๕. ในเมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงขนาดนี้ ก็มีปัญญาสูง ญาณย่อมเกิด คำว่าญาณก็คืออารมณ์ เป็นอารมณ์ที่เกิดจากปัญญา มันจะบอกเองว่า เวลานี้เราถึงพระโสดาบันแล้ว
 
(โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
 
 
 
 
 
ท่านทั้งหลาย ผู้ที่เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลแล้ว ย่อมรู้แก่ใจ แม้จะมีผู้ใดบอกหรือไม่บอกก็ไม่ได้สงสัยในภูมิธรรมขั้นนั้นๆ บางท่านจะมีสัญญาณบางอย่างบอกล่วงหน้า บางท่านก็ถึงกับโลกธาตุสั่นไหวบังเกิดขึ้นที่ใจ บางท่านก็เกิดแสงสว่างไสวพร้อมกับญาณรู้เห็นตามบุญบารมี และสภาวะที่เข้าถึงธรรมนั้นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยววินาที ถึงแล้วก็แค่นั้น ไม่ได้ติดอกติดใจหรือยินดียินร้ายในสภาวะนั้น วางเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหลือไว้แต่สัญญาความจำเพื่อนำมาบอกเล่าสู่กันฟังเท่านั้น เพราะการละสังโยชน์ได้บังเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติแล้ว ปฏิบัติไปเถิด เมื่อถึงแล้วจะรู้เอง เพราะผู้ที่นำมาอธิบายเป็นแต่เพียงลมปาก ส่วนของจริงมันอยู่ที่ใจ จึงมิสามารถยกออกมาอธิบายได้ทั้งหมด
 
ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
3 ตุลาคม 2556

 

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

(267) ภาวนาบูชาครูอาจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล

เมื่อวาน 5 มิถุนายน 2556 ผมได้ไปอนุโมทนากับท่านอาจารย์สุภาพ รัตน์นราทร ซึ่งเป็นอาจารย์ทางโลกของผม เมื่อครั้งที่เรียนอยู่แผนกวิชาศิลปกรรม เทคโนฯโคราช (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานในปัจจุบัน) ท่านเป็นผู้มีจริยาวัตรที่งดงาม สงบเยือกเย็นและมีเมตตาต่อศิษย์ วันนี้ท่านมีบุญวาสนา จึงได้ออกบวชเพื่อเจริญภาวนาตามรอยบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมในกาลข้างหน้า ผมเองในฐานะศิษย์และมีความผูกพันโดยส่วนตัวกับท่าน เคยสนทนาธรรมกันบ้างพอสมควร เมื่อทราบวาระบุญในครั้งนี้ ผมจึงรีบเดินทางไปร่วมอนุโมทนาและร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน ณ วัดป่าไตรสิกขาภาวนา บ้านโนนสาวเอ้ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา การอยู่ปฏิบัติธรรมของผมในวาระนี้ ก็เพื่อเป็นการถวายบุญกุศลหรือเป็นการตอบแทนพระคุณของครูอาจารย์ที่ประเสริฐที่สุด ที่ลูกศิษย์พึงกระทำได้

ณ สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ มีภูมิเป็นที่สัปปายะ เทวดาก็มาก แลเงียบสงบ เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่สอนกรรมฐานโดยคุณแม่ พรหมจาริณีจิราภรณ์ ผู้มีบุญบารมีมากอีกท่านหนึ่ง ค่ำคืนนี้ ผมจึงมีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่าน และท่านได้ช่วยแนะวิถีสมาธิบางอย่างแก่ผม จึงขออนุโมทนาทุกประการครับ สถานที่แห่งนี้ นอกจากจะเหมาะกับสุภาพสตรีแล้ว สำหรับที่พักสงฆ์ และฆราวาสก็มีความสะดวกดี หากใครผ่านไปทางนั้น ก็ลองแวะเข้าไปดูนะครับ

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
6 มิถุนายน 2556
 
 

 

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

(250) สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) กับการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๙ ของโลก

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล


          ท่านทั้งหลาย ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชประวัติ ขององค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงธนบุรี และยังเป็นองค์ปฐมพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ซึ่งพระสังฆราชพระองค์นี้ นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ และโดยเฉพาะการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ ของโลก หรือที่เรียกว่า "นวมสังคายนาพระไตรปิฎก" ที่บังเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินไทย

          หมายเหตุ... ผู้เขียนเรียบเรียงจากบทความที่มีผู้ส่งมาให้ จึงไม่ทราบที่มาของข้อมูลทั้งหมด จึงต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความเดิม มา ณ โอกาสนี้ด้วย ส่วนเนื้อหาหลักทั้งหมดเป็นความจริงตามประวัติศาสตร์ แต่เนื้อหาบางตอน อาจซ่อนปริศนาบางอย่างที่ต่างไปจากความเป็นจริง ซึ่งต้องดูจากญาณในของพระอรหันตเจ้า โดยเฉพาะช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งอาจไม่ตรงกับประวัติศาสตร์หลายประเด็น อันนี้ โปรดพิจารณากันเอาเอง


สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)



"สมเด็จพระสังฆราชสองแผ่นดิน"
สมเด็จพระสังฆราช "องค์ที่สอง" แห่งกรุงธนบุรี
และเป็นพระสังฆราช "องค์แรก" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


         สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า "ศรี" (บางตำราเขียนว่า "สี") พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

         ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่(ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่ จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรีขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี



สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ถ่ายภาพจากจอโทรทัศน์โดย ดร.นนต์


ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

         ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์) เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า “ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”

         ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา) แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวง ก็มิได้หวั่นไหว นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น



สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ถ่ายภาพจากจอโทรทัศน์โดย ดร.นนต์


ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒

          ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิมให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

          “ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต(ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว”

          ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือ และเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงมีต่อ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆัง) แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓



พระกรณียกิจสำคัญ : การสังคายนาพระไตรปิฎก

          เป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระราชกรณียกิจประการแรกที่ทรงกระทำก็คือ การจัดสังฆมณฑลและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ที่เสื่อมทรุดมาแต่การจลาจลวุ่นวายของบ้านเมือง แต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จนถึงครั้งกรุงธนบุรี ในด้านสังฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดอลัชชีภิกษุ และทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรประพฤตินอกพระธรรมวินัย และมีความประพฤติกวดขันในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น

           ในด้านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ก็โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระไตรปิฎกบรรดาฉบับที่มีทั้งที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานสร้างไว้ให้ครบถ้วน ประดิษฐานไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม พร้อมทั้งโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก ถวายพระสงฆ์สำหรับเล่าเรียนไว้ทุกๆ พระอารามหลวง สิ้นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเป็นอันมาก ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า พระไตรปิฎกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อต้นรัชกาลนั้น ยังบกพร่องตกหล่นอยู่เป็นอันมาก ทั้งพยัญชนะและเนื้อความ อันเนื่องมาจากความวิปลาสตกหล่นของต้นฉบับเดิม จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ประชุมสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น

           เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ ๖ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนับเป็น การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๓๓๑) (ครั้งแรกทำที่นครเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา)และ นับเป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (ครั้งที่ ๒ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐) ทั้งนี้ได้มีการอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

          สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
          พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
          พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
          พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก

  การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น ได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวในที่นี้ ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

          …..ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใดๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ ณ หอพระมนเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียน ทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา


         จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้ อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนักถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนาและปฏิเสธศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนักสัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตภายหน้า ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์แก่เทพดามนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

          ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธาน ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้วพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่าพระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

          จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราช ใกล้กรุงกุสินารานคร มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

          .....ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่าน และสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน.....



สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑

          จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุ ว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ จึงดำริการจะทำสังคายนา เลือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ๗ เดือน จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒

           ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี สำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์๑๐ ประการ ให้ระงับยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์ มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา จึงพระโมคคลีบุตรดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐ พระองค์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปีจึงพระมหินเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในลังกาแล้ว พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎก ในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๕

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อนจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกัน ในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรีพระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฐมสังคายนา



สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๗

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑,๕๘๗ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมหานคร จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกชึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่ ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่ พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

          เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้ แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวง บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้จำลองต่อๆ กันไป เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตนๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้าง ทุกๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่ พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์ พระเจ้าสิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำ พระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐ ประชุมพร้อมกับในพระมณฑปนั้น กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จนับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

             เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก และสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่างๆ คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา สามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว บรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวง ก็เป็นอันตรายสาบสูญไป สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้น ก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้ เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร ดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักร ให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยมๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้ พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรม สนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้ ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนา คำรบ ๙ ครั้ง จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัย สิ้นกาลช้านาน แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรร พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้น จัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

         จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒ และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎก ทั้งเช้าทั้งเพล เวลาละ ๔๓๖ สำหรับทั้งคาวหวาน พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

         ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๒ ในป็วอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓ โมง มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศ บริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง
      
         สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก กอง ๑
         พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก กอง ๑
         พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส กอง ๑
         และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก กอง ๑
         และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑ อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑ ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์

        
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกๆ วัน วันละ ๒ เวลา เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์ ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุกๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ
 

          การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก ซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ปิดทองทึบ ทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกๆ พระคัมภีร์
      
      
         อนึ่ง เมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ
 
    
         ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว ซึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศพระราชยานต่างๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก มีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎกณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย…..


  จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งนี้ กล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ นับแต่ทรงเป็นประธานสงฆ์ ถวายคำแนะนำแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญ ของการธำรงรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น และในการทำสังคายนา สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ โดยทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมพระราชประสงค์ทุกประการ โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช(ศรี) โดยแท้ นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

          พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นี้เอง ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๓๙ เล่ม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังที่ใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน


พระกรณียกิจพิเศษ

          สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ อีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย(คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนัก พระปัญญาวิสาลเถร(นาค) ตลอด ๑ พรรษา แล้วจึงทรงลาผนวช


พระอวสานกาล

         สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเวลา ๑๒ ปี และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ พุทธศักราช ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๒ ปี เช่นกัน ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่า 'สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า' จึงน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

(249) หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน โปรดบุรุษผู้หนึ่งในนิมิต





🌸  อัศจรรย์ธรรมนิมิต  🌸
🌼  หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  🌼
🌼  โปรดบุรุษผู้หนึ่ง  🌼

🔸๑🔸 🌼 ปฐมกาลก่อนธรรมนิมิต 🌼

       🔹 กาลอันเป็นมงคลครั้งแรกของบุรุษผู้หนึ่ง ปรากฏขึ้นเมื่อได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าแสงธรรมวังเขาเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ก่อนที่ท่านจะละสังขารไม่ถึงปี การที่ได้กราบท่านในครั้งนั้น นับว่ามีความเป็นพิเศษมาก เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ใกล้ชิดท่าน เมื่อแรกที่ท่านลงจากรถตู้และกำลังครองผ้าจีวรอยู่นั้น บุรุษผู้นี้ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า... "หากลูกมีบุญวาสนาพอที่จะได้เจริญรอยตามพ่อแม่ครูอาจารย์บ้าง ขอให้หลวงตาได้โปรดหันมามองที่ลูกด้วยเทอญ"... ทันใดนั้น หลวงตาท่านได้หันมามองหน้าทันที ทั้งที่เขานั่งอยู่ห่างมากพอสมควร จึงเป็นความปีติครั้งแรก ต่อมาก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับ บุรุษผู้นี้ก็ยังอธิษฐานจิตว่า... "ขอให้มีโอกาสได้สัมผัสผ้าเหลืองของพระอรหันต์ด้วยเถิด".... สุดท้ายเขาก็ได้ประคองหลวงตาขึ้นนั่งบนรถเข็น และได้สัมผัสทั้งผ้าเหลืองและกายเนื้อของท่าน ด้วยการประคองและจับขาของท่านวางบนที่วางเท้า นั่นนับว่า เป็นมงคลอันสูงสุดครั้งแรกในชีวิตของเขา

       🔹 ต่อมา เมื่อหลวงตาได้ละสังขารแล้ว ขณะที่บุรุษผู้นี้กำลังนั่งภาวนาในตอนเช้าของวันหนึ่ง จิตได้ระลึกถึงองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พลันจิตผุดขึ้นมาว่า อยากจะได้พระธาตุของท่านทั้งสองมาสักการะบูชา พอตอนสายของวันนั้น ปรากฏว่า คุณปรัชญา จิตต์ปรัชญา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ได้อัญเชิญอังคารธาตุของหลวงตามหาบัวมาให้ถึงบ้าน ทั้งที่ไม่เคยพบกันมาก่อน ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ บุรุษผู้นี้ก็ได้รับพระธาตุของหลวงปู่มั่นจำนวน 1 องค์ จากคุณศรุต จันทสกุลเดชา ซึ่งเป็นญาติธรรมที่กรุงเทพฯ และหลังจากนั้น 7 วัน พระธาตุของหลวงปู่มั่น ก็ได้กลายเป็นผลึกใสคล้ายเพ็ชร พร้อมกับขยายขนาดใหญ่ขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์





🔸๒🔸 🌼  นิมิตธรรมครั้งแรก  🌼

      🔹 เมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาถึงช่วงกลางเข้าพรรษาปี ๒๕๕๕ หลังจากบุรุษผู้นี้ ได้รับพระธาตุของหลวงตามหาบัวมาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ไม่นานนัก หลวงตาท่านก็ได้มาโปรดบุรุษผู้นี้ในนิมิต  โดยท่านได้แสดงปริศนาธรรม ด้วยการแสดงการเข้าสู่พระนิพพานของท่าน  โดยแสดงท่านั่งบนยานพาหนะลักษณะแปลก ค่อยๆลอยขึ้นจากพื้นทางทิศตะวันออก หลวงตาห่มผ้าจีวรสีเหลืองทองสว่างไสว พร้อมกับทอดสายตามองมาที่บุรุษผู้นี้ด้วยความเมตตา เมื่อลอยขึ้นไปสูงราวดวงอาทิตย์เวลาสิบนาฬิกา ท่านจึงสงบนิ่งพร้อมเอ่ยว่า... "เราจะไปแล้วนะ"... บุรุษผู้นี้จึงก้มลงกราบท่าน พลันความปีติยินดีก็แผ่ซ่านไปทั้งกายและใจ  จนต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมานั่งภาวนาต่อ  อย่างไรก็ตาม นิมิตนี้ประหนึ่งว่า ท่านให้กำลังใจ ให้เขาปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่พระนิพพานเข่นเดียวกันกับท่าน จึงนับเป็นศุภนิมิต ที่ติดตรึงใจเขามาจนกระทั่งบัดนี้








🔸๓🔸 🌼 นิมิตธรรมครั้งที่สอง 🌼

       🔶  นิมิตรอบแรก 

       🔹 ต่อมาอีกไม่นาน หลังจากบุรุษผู้นี้ได้เร่งความเพียรอย่างหนัก อยู่กับหลวงพ่อแห่งโคกปราสาท เกือบตลอดทั้งปี และเมื่อกลับจากการธุดงค์สัญจรกับหลวงพ่อ ปรากฏว่า ในราวตีสามของคืนวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๖  บุรุษผู้นี้ได้นิมิตว่า เขาได้ว่ายข้ามฝั่งแม่น้ำอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง คล้ายกับอยู่ในประเทศอินเดีย โดยมีคู่บารมีเป็นผู้ร่วมว่ายติดตามไปด้วย ทั้งคู่ได้ว่ายน้ำข้ามไป ท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกราด  พอว่ายไปถึงอีกฝั่ง ปรากฏว่า มีผู้คนจำนวนมากกำลังเข้าแถว ต่างถือเครื่องสักการะ และถาดข้าวตอกดอกไม้ เพื่อไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งเป็นเทวรูปสตรี ในศาสนาฮินดูของอินเดีย เทวสถานแห่งนี้ ตั้งอยู่เชิงเขาติดกับริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ในใจของบุรุษผู้นี้บอกตัวเองว่า... "นี่เราได้เลยพ้นจากจุดพวกนี้ไปแล้ว เพราะเราได้เดินตามรอยบาทของพระบรมศาสดา และพระอรหันต์แล้ว"...  

       🔹 ขณะเดียวกัน จิตหนึ่งกลับผุดสงสารผู้เป็นคู่บารมีว่า... "นี่เธอยังมีความลุ่มหลง และยังศรัทธาเหล่าเทพเจ้าอยู่หนอ"... เพราะเห็นเธอกำลังถือถาดดอกไม้ไปยืนเข้าแถวกับเขาด้วย พร้อมกับตะโกนเรียกให้บุรุษผู้นี้ ไปกราบไหว้ด้วยกัน แม้จิตของบุรุษผู้นี้จะรู้ดีว่า... "ท่านทั้งหลายกำลังพากันหลงอยู่นะ"... แต่ด้วยจิตอันเป็นเมตตาต่อผู้เป็นคู่บารมี บุรุษผู้นี้จึงยอมเดินไปเข้าแถวกับเธอ แต่ในจิตของเขา ได้บอกเทพองค์นั้นไปว่า... "บัดนี้ เราไม่กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือลัทธิใดๆ ที่อยู่นอกเหนือคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนะ  และเราก็ไม่ได้กราบไหว้อ้อนวอนขอพรจากท่านจริงๆนะ แต่เรายอมเอาดอกไม้มาให้ท่านนี้ เพื่อเป็นแต่เพียงกิริยามารยาท ที่ต้องการรักษาน้ำใจคู่บารมีของเราไว้ และมิได้มีเจตนาจะดูหมิ่นชิงชังท่านแต่อย่างใด"... ทันใดนั้น ถาดดอกไม้ได้หลุดจากมือของบุรุษผู้นี้ ลอยไปตกอยู่หน้าเทวรูป ทำให้เทวสตรีผู้นั้น ถึงกับแสดงสีหน้าตกใจ แต่ก็จำยอมน้อมรับเอาถาดดอกไม้นั้น บุรุษผู้นี้จึงยิ้มให้กับเธอ ด้วยความเมตตาต่อเทพตนนั้น เช่นเดียวกันกับที่เมตตาต่อสัตว์โลก

      🔹 หลังจากนั้น บุรุษผู้นี้ได้เดินปลีกตัวออกไปบนเนินเขา เห็นบุรุษแขกผู้หนึ่งเดินเข้ามาหา พร้อมกับโวยวายเสียงดังว่า บุรุษผู้นี้ทำบางอย่างต่อเทพของพวกเขาไม่ถูกต้อง พร้อมกับเรียกร้องเอาสิ่งของบางอย่าง  บุรุษผู้นี้จึงจำยอมมอบบางสิ่งให้ แล้วเขาก็เดินจากไป ในใจของบุรุษผู้นี้รำพึงรำพันพร้อมกับพูดออกไปว่า.... “โอ้...คนมันพาล มาปล้นคนมีศีลกันดื้อๆ อย่างนี้เชียวหรือ น่าจะตีแผ่ออกไปให้ชาวโลกเขารู้ถึงกลเล่ห์เพทุบายของคนแถวนี้นะ”... เสียงรำพึงนั้น ได้ยินไปถึงแขกอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่แถวนั้น พวกเขาขอร้องว่า... “ท่านอย่าทำอย่างนั้นเลย”...  บุรุษผู้นี้จึงไม่ถือสาเอาความ แล้วได้เดินย้อนกลับลงมาหาคู่บารมี ที่รออยู่ริมตลิ่งข้างล่าง 

      🔹 เมื่อมายืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ บุรุษผู้นี้ได้มองข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ในใจบอกว่า...  “เราจะว่ายน้ำข้ามไปยังอีกฝั่งที่สวยงามโน้น”.... พอคิดจะก้าวเดินลงน้ำได้ไม่ทันไร ก็ปรากฏว่า ตัวเองมายืนอยู่อีกฝั่งอย่างรวดเร็วทันใด แต่พอมองหาคู่บารมี ก็ไม่เจอเธอเสียแล้ว

       🔹 เมื่อข้ามมาถึงฝั่งแล้ว จิตเกิดอัศจรรย์ เพราะฝั่งนี้ เต็มไปด้วยสวนพฤกษา สวยสดงดงามตา มีการจัดสวนลดหลั่นกันไป ดุจดังในเทพนิยาย เดินเพลินอยู่ไม่นาน จึงได้พบกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านยืนยิ้มอยู่ ด้วยความปีติยินดีเป็นล้นพ้น เขาจึงเดินเข้าไปหาหลวงตา ขณะเดียวกัน พลันสายตาก็เห็นเจ้าแขกคนที่เคยกรรโชกทรัพย์มาแล้วที่ฝั่งโน้น ชายแขกเดินเข้ามาหา ด้วยอาการที่ยิ้มแย้มเป็นมิตร การแต่งกายก็สะอาดแลภูมิฐานดี พอเดินมาถึง เขาได้ยื่นย่ามของพระใบหนึ่งมาให้ บุรุษผู้นี้รับไว้และได้ยิ้มตอบ เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตใหม่ของเขา ต่อมาบุรุษผู้นี้ได้ยื่นย่ามใบนั้น ถวายแด่องค์หลวงตา แต่ในใจเขายังสงสัยแขกผู้นี้อยู่ จึงได้กราบเรียนถามหลวงตาว่า... “ทำไม หลวงตาจึงได้โปรดคนพาลพวกนี้ข้าน้อย”... หลวงตายิ้มหัวเราะ พร้อมกับยื่นย่ามใบนั้นกลับมาให้เขาคล้องคอ บุรุษผู้นี้ถึงกับปีติร้องไห้ เพราะได้คล้องสะพายย่าม เสมือนกับจะได้เป็นพระแล้ว พร้อมกับได้รำพึงรำพันกับหลวงตาว่า... “เหตุใดข้าน้อย(ข้าผู้น้อย) อยากบวชแทบตาย แต่ยังไม่ได้ออกบวชเสียที ทีเจ้าคนพาลนี้ กลับได้ดีแล้ว”.... หลวงตาเอ่ยขึ้นมา พร้อมกับเสียงหัวเราะว่า... “โถ..โถ..น่าสงสาร..”... 

      🔹 ท่านทั้งหลาย เมื่อบุรุษผู้นี้ ได้ยินหลวงตาพูดด้วยความเมตตาเช่นนั้น พลันเกิดปีติซาบซ่านอย่างเหลือล้น จนต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา แม้ตื่นขึ้นมาแล้ว แต่จิตนั้นกลับเข้าสู่สภาวะที่ตื่นและสว่างไสว  เขาจึงถือโอกาสพิจารณาธรรมจากนิมิตนั้นต่อทันที เขาพิจารณาย้อนกลับไปกลับมาหลายรอบ นานนับสิบนาที จนในที่สุด จิตได้เข้าสู่สภาวะอันเงียบสงบอีกครั้ง พร้อมกับได้นิมิตเห็นหลวงตา มาสอนธรรมต่อเนื่องอีกเป็นรอบที่สอง ซึ่งห่างจากรอบแรกเพียงสิบนาที

      🔶  นิมิตรอบที่สอง

      🔹  ความเมตตาในการมาแสดงธรรมนิมิตในรอบที่สองนี้ หลวงตามาในแบบสบายๆ ไม่ได้ห่มจีวร ท่านกำลังนั่งฉันหมากอยู่บนอาสนะ และเอนพิงกายอิงหมอนสามเหลี่ยม ท่านหยิบจับหมากพลูไป ฉันไป พร้อมกับเอ่ยกับบุรุษผู้นี้ ที่กำลังก้มกราบท่านอยู่ ท่านเอ่ยอย่างเป็นกันเองว่า... “ให้พิจารณาทุกสิ่งที่อยู่รอบกายเป็นอนิจจังนะ”... เขาน้อมรับว่า... “ข้าน้อย”...

        🔹  ต่อมาบุรุษผู้นี้ ได้กราบเรียนถามท่านว่า... “ผู้ที่จะก้าวไปสู่อริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ต้องละสังโยชน์ตั้งแต่สามข้อขึ้นไป โดยเฉพาะสีลัพพตปรามาส คือการไม่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการไม่ยึดติดในพระเครื่องแลวัตถุมงคล ใช่หรือไม่ขอรับ”.... ท่านไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มและก็ฉันหมากตามปรกติ  ความจริงบุรุษผู้นี้ เข้าใจข้อนี้เป็นอย่างดี เพียงแต่ถามเพื่อเป็นการยืนยันบางอย่างเท่านั้น หลวงตาจึงตอบกลับว่า... “ไม่เป็นไร อย่าไปสนใจ จะระดับใดก็ชั่ง ภาวนาไปเรื่อยๆ”... 

        🔹 ต่อมา หลวงตาชี้ให้ดูเถาวัลย์ยาวขนาดใหญ่สองเครืออยู่คู่กัน เป็นเถาวัลย์ประหลาดๆ เพราะจะว่าเป็นเถาตำลึงก็ไม่ใช่ เถาหนึ่งมีสีเขียวสด อีกเถาหนึ่งมีสีหม่นแห้งเฉา เมื่อหันไปมองแล้ว หลวงตาท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า... “เห็นไหม มันใช้เรามาตลอด”... จากปริศนาธรรมสั้นๆนี้ บุรุษผู้นี้ได้พิจารณาตาม ว่า... “โอ้ อันตัวเรา เมื่อถือกำเนิดเกิดขึ้นมาแล้ว มีกิเลสแลอวิชชาเป็นผู้กดขี่ข่มเหง แลหลอกพาใจ ไปใช้ให้ร่างกายทำโน่นทำนี่ อันเป็นความชั่วเลวทราม แม้แต่ตายลงไปแล้ว กิเลสเหล่านั้น ก็มิได้ตายตามไปกับกายสังขาร เสมือนเถาวัลย์ยาวเฟื้อย มันยังเลื้อยติดตามดวงจิตไปหลอกใช้ในภพชาติใหม่ ชั่งเวียนว่ายเป็นวัฏฏะสงสารไม่สิ้นสุด กิเลสนี้มันชั่งร้ายและแยบยลนัก”...

       🔹 ต่อมา หลวงตาได้ชี้ให้ดูที่กอไผ่กอหนึ่ง เพราะในใจของเขายังสงสัยว่า ทำไมตัวของเขาผู้ปรารถนาพระนิพพานในภพชาตินี้ ยังต้องมามีครอบครัว  ทำไมยังไม่ได้ออกบวชสักที ท่านเอ่ยสั้นๆ ขึ้นมาว่า... “ทำไมยังต้องมีเมีย”...  บุรุษผู้นี้ได้พิจารณาตามท่าน จึงเข้าใจว่า... “อันตัวเราเวียนว่ายตายเกิดมานับภพไม่ถ้วน จึงมีลูกมีเมียมากมาย ดุจใบไผ่ที่เกาะกิ่งไผ่ เราก็เหมือนกับกิ่งไผ่ ที่ให้ที่พักพิงแก่ใบไผ่ เป็นการอาศัยซึ่งกันและกัน หากเราจะตัดภพตัดชาติกับลูกกับเมียแล้วไซร้ เราก็ต้องเป็นเสมือนกับกิ่งไผ่ที่ตายแล้ว คือการตายจากกิเลสทั้งหลายทั้งมวล ดับภพชาติอวิชชาให้สิ้นซาก เมื่อนั้น เราจึงจะหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งหลายได้ เปรียบเสมือนกับกอไผ่ที่ตายแล้ว ใบไผ่ทั้งหลายก็จะร่วงหล่นไปเป็นธรรมดา นั่นเอง”...

      🔹 ท่านทั้งหลาย นิมิตธรรมนี้ ได้แสดงออกมาตามอรรถตามภูมิที่บุรุษผู้นี้มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ปริศนาธรรมทั้งหลาย ผู้มีปัญญามาก สามารถที่จะแยกแยะออกไปได้ไม่สิ้นสุด แลภาพนิมิตทั้งหลาย พ่อแม่ครูอาจารย์ทุกองค์ ท่านไม่ให้ใครไปยึดติดในนิมิตเหล่านั้น แต่ท่านให้นำเอานิมิต หรือปริศนาธรรมเหล่านั้น มาพิจารณาเป็นอุบายธรรม โดยใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักภาวนา 

       🔹 ท้ายสุด เมื่อท่านทั้งหลายได้อ่านธรรมนิมิตนี้จบลง ขอผลานิสงส์ทั้งหลาย จงเป็นปัจจัยให้ท่านมีแต่ความสุขความเจริญ สงบร่มเย็น มั่งมีศรีสุข แลสว่างไสวทั้งทางโลกและทางธรรม จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมทุกท่านเทอญ

      🔹 ขอเจริญในธรรม
      🔹 ดร.นนต์ บันทึกแทนบุรุษผู้นั้น
      🔹 ๗ มีนาคม ๒๕๕๖