ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ธรรมทาน

ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ทางธรรม

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(416) "ธรรมสัญจรกัมพูชา" อารยธรรมโบราณ





☀️ ธรรมสัญจร กัมพูชา ☀️
☀️ "อารยธรรมโบราณ" ☀️
        ๓๑ พ.ย. - ๓ ธ.ค. ๒๕๕๘

ท่านทั้งหลาย ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน - ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และผู้ติดตามจำนวน ๑๙ ท่าน และศิลปินชาวเกาหลีใต้อีก ๕ ท่าน ได้เดินทางไปทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรม และชมเทวสถานหลายแห่ง ที่สร้างอยู่ภายในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา อาทิ ปราสาทพนมบาเค็ง ปราสาทนครวัด ปราสาทบายน ปราสาทตาพรหม ในนครธม ปราสาทบันทายศรี พนมกุเลน และโตนเลสาบ เป็นต้น


☀️ ทุ่งสังหาร ☀️

๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คณะพวกเราไปชมสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ที่กลุ่มเขมรแดงฆ่าประชาชนชาวกัมพูชาด้วยกัน ว่ากันว่า ปัญญาชนชาวกัมพูชาและผู้มีความคิดเห็นต่างจากกลุ่มเขมรแดง ถูกฆ่าตายราว ๔ ล้านคน สถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงกลายเป็นทุ่งสังหาร หรือที่เรียกกันว่า Killing field ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และที่จังหวัดเสียมเรียบนี้ ประชาชนถูกฆ่าตายอยู่ภายในบริเวณวัดหลายหมื่นคน ขณะที่ไกด์กำลังบรรยาย บุรุษผู้หนึ่งจึงถือโอกาสภาวนาและแผ่เมตตา พร้อมพิจารณาว่า....   "เจริญสุดก็ที่นี่  เสื่อมสุดก็ที่นี่  ทุกข์สุดก็ที่นี่ โหดสุดก็ที่นี่  และบาปสุดก็ที่นี่"....   พิจารณาไปใจก็สะท้าน เพราะใจสัมผัสในความทุกข์ของสรรพวิญญาณที่ยังตกค้างอยู่ที่นี่ จึงมีแต่ความเมตตาที่แผ่ออกไปให้พวกเขา




☀️ พนมบาเค็ง ☀️

ช่วงเย็นของวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คณะพวกเราใต่เขาขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดิน บนปราสาทพนมบาเค็งที่อยู่บนยอดเขา "พนมบาเค็ง" (Phnom Bakheng) เป็นเทวสถานที่สร้างตามลัทธิไศวนิกาย เมื่อราว พ.ศ. ๑๔๕๐ ปราสาทพนมบาเค็ง ตั้งอยู่บนเขาลูกเล็กที่มีความสูงประมาณ ๗๐ เมตร มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า ปราสาทยโศธระปุระ ตามนามของผู้สร้างคือ พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ แห่งอาณาจักรยโศธรปุระ ต่อมาได้เรียกว่า พนมบาเค็งตามลักษณะของต้นบาเค็งที่มีอยู่มากในบริเวณนี้ พนมบาเค็งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อของชาวฮินดู ปัจจุบัน ปราสาทพนมบาเค็ง กลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ซึ่งสามารถมองเห็นปราสาทนครวัด บาราย และบริเวณโดยรอบ 







☀️ ปราสาทนครวัด ☀️

๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร หรือที่เรียกกันว่า Angkor Wat ปราสาทนี้สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อเป็นสถานที่บูชาพระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ใช้เวลาก่อสร้างเฉพาะในรัชสมัยของพระองค์ถึง ๓๗ ปี แต่ปราสาทก็ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเห็นบางส่วนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี นั้นเป็นเพราะปราสาทนครวัดมีขนาดใหญ่มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร และกว้าง ๘๐ เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาทยอดปรางค์ ๕ หลังตั้งอยู่บนฐานสูง โดยหลังกลางสูงที่สุด เสมือนเป็นยอดเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อของศูนย์กลางจักรวาล มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ ๑.๕ กิโลเมตร มีคูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรบนสวรรค์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และว่ากันว่า ใช้หินรวม ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า ๔๐,๐๐๐ เชือก และแรงงานคนนับแสน ขนหินและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลน ชึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๕๐ กิโลเมตร จึงนับว่า เป็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่สุดของอาณาจักรขะแมร์โบราณ










☀️ ปราสาทบายน ☀️

๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทบายน (Bayon) ซึ่งเป็นปราสาทหิน สร้างอยู่ในบริเวณของใจกลางนครธม (Angkor Thom) สร้างขึ้นเป็นวัดประจำสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในราวปี พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๓ ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงรบชนะพวกจามและขับไล่ออกไป ปราสาทบายน นับเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในแง่โครงสร้างและความหมาย เนื่องจากผ่านความเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาและความเชื่อ มาตั้งแต่คราวนับถือศาสนาฮินดู สลับกับการกลับมานับถือพระพุทธศาสนามหายาน อาคารจึงมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากส่วนของหอมีจำนวน ๔๙ หอ ปัจจุบันคงเหลือเพียง ๓๗ หอ แต่ละหอมีรูปหน้าหันสี่ทิศ แต่ยอดตรงกลางของกลุ่มอาคาร จะมี ๑๒ หน้า ว่ากันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงให้แกะเป็นรูปหน้าของพระองค์ และความหมายของหน้าทั้งสี่คือ พรหมวิหารสี่ ตามคติของศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่ง ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งภาวนาอยู่บนห้องใจกลางของยอดปราสาท นานราวครึ่งชั่วโมง ก็ได้รับความสงบและแปลกเป็นปัตจัตตัง







☀️ ปราสาทตาพรหม ☀️

๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทตาพรหม (Ta Prohm) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๗๒๙ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ทรงสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน เพื่อถวายแด่พระมารดา ว่ากันว่า พระมารดาทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ภายในบริเวณปราสาทแห่งนี้ กว้างใหญ่มาก มีบ้านพักข้าราชบริพารรายล้อมจำนวนมาก และนับเป็นปราสาทหินในยุคท้ายๆ ของอาณาจักรขะแมร์โบราณ ปราสาทเหล่านี้ ถือว่าเป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนา แต่ผู้มีอำนาจในยุคต่อมา ได้หันกลับไปนับถือฮินดู จึงมีการทำลายรูปสลักพระพุทธรูป และสร้างใหม่เพิ่มเติมปะปนกัน เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน ปรากฏมีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นบนตัวปราสาท แต่ไม่สามารถจะตัดออกได้ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมความอัศจรรย์ที่ว่านี้







อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่ง ถือโอกาสนั่งภาวนาแผ่เมตตาไปตามประสา แม้ว่าจะมีฝูงชนนักท่องเที่ยวมากมายก็ตาม แต่จิตสงบดี เพราะมีพลังแฝงบางอย่างปรากฏให้รับรู้เป็นปัตจัตตัง เสมือนสรรพวิญญาณมีความปีติยินดี เมื่อจิตดิ่งสงบลง ปรากฏมีลมโชยพัดมา พร้อมกับเสียงนกนานาร้องดังระงมขึ้น ประหนึ่งเป็นเสียงของความทุกข์ระคนความปีติยินดี แต่ก็แปลก เพราะจิตยังมีความสงบบนเสียงร้องระงมนั่น ซึ่งก็ดูประหลาดลึกลับดี สมแล้วกับที่เป็นสถานที่บำเพ็ญทางพระพุทธศาสนา และพิธีกรรมของชาวฮินดู มาแต่โบราณกาล






☀️ ปราสาทบันทายศรี ☀️

๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พวกเราได้ไปชมปราสาทบันทายศรี (Banteay Srei) แม้จะเป็นปราสาทขนาดเล็กที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพูก็ตาม แต่ก็นับเป็นปราสาทหินที่ถือได้ว่า งดงามที่สุดในประเทศกัมพูชา มีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ และเป็นปราสาทแห่งเดียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ ปราสาทบันทายศรี หรือที่เรียกตามสำเนียงเขมรว่า บันเตียไสร หมายถึง ปราสาทสตรี หรือป้อมสตรี มีตำนานเล่าว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤาษี ต่อมาฤาษีได้แต่งงานกับสตรีนางหนึ่ง จึงเรียกปราสาทนี้ว่า เป็นปราสาทของสตรี ปราสาทบันทายศรี อยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ใกล้กับแม่น้ำเสียมเรียบ ในบริเวณที่เรียกว่า อิศวรปุระ หรือเมืองของพระอิศวร ปราสาทแห่งนี้ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระอิศวร ภายใต้พระนามว่า "ตรีภูวนมเหศวร" หรือ "ผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสาม" สร้างขึ้นโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในตอนปลายของสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ (หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ พ.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๑๑) และเสร็จในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑-๑๕๕๔)






☀️ พนมกุเลน ☀️

ท่านทั้งหลาย ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ คณะพวกเราได้เดินทางไปชมเมืองโบราณ ณ พนมกุเลน (Phnom Koulen) จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา  "พนม" แปลว่า ภูเขา "กุเลน" แปลว่า ต้นลิ้นจี่ พนมกุเลน ก็คือ ภูเขาที่มีต้นลิ้นจี่ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อในภายหลัง เดิมทีภูเขาลิ้นจี่นี้ เมื่อราว ๑,๓๐๐ ปี พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ กษัตริกัมพุชเจียโบราณ เป็นผู้สร้าง "เมืองมเหนทรบรรพต" ขึ้นมาบนพนมกุเลน ซึ่งนับเป็นเมืองแห่งที่ ๔ ของพระองค์ พร้อมกับได้สร้างศิวลึงค์และโยนีไว้ใต้ลำธาร ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เพื่อเป็นสถานที่กระทำพิธีศิวะราตรีบนภูเขานี้ ว่ากันว่า ณ บริเวณลำธารบนเขาพนมกุเลนนี้ มีรูปแกะสลักใต้น้ำจำนวน ๑๐,๐๐๐ ชิ้น กระจายอยู่ตลอดลำธารที่ยาวถึงครึ่งกิโลเมตร อาทิ รูปแกะสลักศิวลึงค์ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศิวะ รวมทั้งรูปแกะสลักพระวิษณุ และพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นต้น






☀️ "ศิวะราตรี" พิธีของพราหมณ์ ☀️

พิธีศิวะราตรี เท่าที่ฟังไกด์บรรยายพอสรุปได้ว่า หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงกระทำพิธี "ศิวะราตรี" คือการสรงน้ำที่ไหลผ่านศิวลึงค์บนเขาพนมกุเลน เพื่อชำระร่างกายจนสะอาดแล้ว พระองค์จะทรงจำศีลนั่งภาวนาสมาธิเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน โดยอาศัยภาวนาอยู่ใต้รูปปั้นนางพญานาคีเก้าเศียร ตามความเชื่อว่าเป็นมงคล จนเมื่อรู้เห็นสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสามารถติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าได้ พระองค์จะถามว่า สิ่งที่ท่านได้กระทำเพื่อบูชาแล้ว ถูกต้องดีงามหรือยัง พระเจ้าพึงพอใจหรือยัง ถ้าหากยัง พระองค์ก็จะทรงภาวนาสมาธิต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะที่คณะพวกเราเดินชมบริเวณรูปสลักใต้ลำธาร มีอาจารย์หนุ่มผู้มีใจใฝ่ในธรรมท่านหนึ่ง ถามบุรุษผู้หนึ่งว่า "อาจารย์ครับ ผู้ที่มีความเชื่อแบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง" บุรุษผู้มีอาวุโสตอบอาจารย์หนุ่มไปว่า 

☀️ "มันเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ หากพิธีนี้มันศักดิ์สิทธิ์จริง กุ้งหอยปูปลาที่อยู่ในลำธารนี้ คงได้หมดทุกข์กันไปก่อนพระเจ้าชัยวรมันแล้ว มันก็เหมือนกับความเชื่อว่า แม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย ความเชื่อแบบพราหมณ์ก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย พระพุทธเจ้าสอนเราไม่ให้เชื่อเรื่องแบบนี้ มันเป็นความหลง แต่เราก็ไม่ว่ากันนะ เพราะเราก็เคยหลงแบบนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่ชาตินี้เราจะไม่หลงแบบนั้นอีก แต่จะว่าไป มันก็เป็นขั้นตอนของการสร้างบารมี สร้างไปทุกศาสนา แต่หากบารมีมากแล้ว สุดท้ายต้องมาลงที่พระพุทธศาสนา จึงจะสามารถพ้นทุกข์ได้ เราสร้างมาหมดแล้ว จะกลับไปทำไม พอแล้ว ขออยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นสุดท้าย" ☀️


☀️ บ่อน้ำเจ็ดสี ☀️

นอกจากนั้น ตรงบริเวณลำธารนี้ ยังพบบ่อน้ำผุดใสมรกตลึกราว ๑ เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าเป็นธรรมชาติ แต่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกว่า บ่อน้ำเจ็ดสี และว่ากันว่า ชาวกัมพูชานำน้ำจากบ่อนี้ ไปประกอบพิธีสำคัญต่างๆ มาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม เท่าที่บุรุษผู้หนึ่งสัมผัสได้ขณะแผ่เมตตา ปรากฏว่า มีคลื่นสัมผัสสื่อสารเข้ามา จึงอธิษฐานจิตว่า หากพวกท่านมีบุญวาสนา เราจะนิมนต์หลวงพ่อแห่งวัดโคกปราสาทและลูกศิษย์ มาภาวนาแผ่เมตตาแก่พวกท่านที่นี่ ก็ได้รับคลื่นปีติยินดีกลับมาเป็นปัตจัตตัง




☀️ การเข้ามาของพุทธศาสนาหินยาน ☀️

หลังจากนั้น คณะพวกเราได้ไปชมพระพุทธรูปนอนปางไสยยาสน์ ที่แกะจากหินอยู่บนยอดก้อนหิน สูงจากพื้นราวสิบเมตร ที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งรูปแกะสลักหินใต้ลำธารมากนัก พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างโดยพระเจ้าองค์จันทร์ที่ ๑ เมื่อราว ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา ว่ากันว่าพระเจ้าองค์จันทร์ที่ ๑ ทรงมีคติว่า หากมีศาสนสถานของพราหมณ์อยู่ที่ใด ท่านจะไปสร้างพระพุทธรูปอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เพื่อประกาศให้รู้ว่า พระองค์มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา (หินยาน) มากนั่นเอง





☀️ ปราสาทหินริมน้ำตก ☀️

บนเขาพนมกูเลน ว่ากันว่า มีโบราณสถานเช่นปราสาทหิน ธรรมศาลา และอโรคยา ที่สร้างด้วยศิลาแลงมากถึง ๔๘ แห่ง แต่เกือบทั้งหมดยังไม่ได้บูรณะและอยู่ในป่า อย่างไรก็ตาม ทางการกัมพูชาได้ให้สัมปทานแก่เอกชน เป็นผู้ดูแลและทำธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้น อีกสถานที่แห่งหนึ่งที่ถูกจัดให้ไปชมก็คือ ปราสาทหินเก่ายุคพระเจ้าไชยวรมันที่ 2 ที่สร้างไว้ติดกับน้ำตก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระนอนมากนัก สถานที่แห่งนี้ร่มรื่นสงบดี แต่ก็ดูลึกลับประหลาด เมื่อนั่งภาวนาก็ปรากฏจิตสงบดี จึงน่าจะเป็นสถานที่เหมาะในการภาวนามาแต่ในอดีต







☀️ โตนเลสาบ ☀️ 

หลังจากคณะพวกเราลงจากเขาพนมกูเลนแล้ว พวกเราไปเยี่ยมชมโตนเลสาบ (Tonle Sap Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีพื้นที่กว้าง ๒๕ กิโลเมตร ยาว ๑๕๐ กิโลเมตร โตนเลสาบนับเป็นแหล่งมรดก ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมมาแต่บรรพกาล ซึ่งขณะนี้ทางการกัมพูชากำลังเสนอองค์การยูเนสโก ให้โตนเลสาบและพนมกูเลนเป็นมรดกโลกร่วมกัน ซึ่งคาดว่าอีกไม่กี่ปีจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของโลก



อย่างไรก็ตาม บุรุษผู้หนึ่งเคยเดินทางมายังที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๕๐ การมาในครั้งกระนั้น ทำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเวียดนามที่ยังตกค้างอยู่ในกัมพูชา อันเป็นผลมาจากการสงคราม ชาวเวียดนามนับแสนคนเป็นผู้ยากจน ไร้ที่อยู่ จึงได้พากันมาอาศัยสร้างเรือนแพและหากินอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ มานานหลายสิบปี แต่การมาในครั้งนี้ นอกจากจะได้ชมวิถีชีวิตและธรรมชาติแล้วบุรุษผู้นี้ยังได้พิจารณาสัจธรรมของโลกสมมุติ ภาวนาไป พิจารณาไป ใจเสมือนเห็นความทุกข์ของสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือส่ำสัตว์ ต่างก็ดิ้นรนหาอยู่หากิน เอาชีวิตรอดไปวันๆ แม้แต่สรรพวิญญาณที่เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิแห่งนี้ก็เช่นกัน ล้วนมีความทุกข์ไม่ต่างกัน พิจารณาไปเท่าไร ใจก็เห็นแต่ความทุกข์ จึงได้แผ่เมตตาออกไปตามประสา จะช่วยพวกท่านได้มากได้น้อยเพียงไร ก็ขอให้เป็นไปตามบุญบารมีของแต่ละท่านเถิด

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
๙ ธันวาคม ๒๕๕๘


วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

(411) ธรรมนิมิต ปริศนาธรรม



หลวงปู่เพียร วิริโย



หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร และ ดร.นนต์ 
ณ ปากถ้ำเขาดงคสิริ อุรุเวลาเสนานิคม คยา อินเดีย 1 พฤศจิกายน 2558



"ธรรมนิมิต ปริศนาธรรม"
 ☀️☀️☀️

☀️  ๘ พฤศจิกา ๒๕๕๘  
ณ บ้านนายแพทย์พุทธอุปถัมภ์
ผู้ปรารถนาพระโพธิธรรม   
จิตใจล้ำเมตตาบารมี
บุรุษผู้หนึ่งนอนภาวนา  
จิตสงบในท่านอนตามวิถี
เกิดนิมิตดังลิขิตวลี  
ปริศนานี้มีนัยธรรม

☀️ "หลวงปู่เพียร วิริโย" มาโปรด  
ให้เพ่งโทษความคร้านย้านถลำ
หลวงปู่ย้ำ "รอยแส้" เป็นรอยธรรม 
หวดแส้ซ้ำย้ำลงกลางลำตัว
หลวงปู่สอนหายใจกายเบาหนัก 
ผ่อนใจพักเบาสบายกายทั่ว
มีสติรู้สิ้นทั้งใจตัว 
ปีติซ่านทั่วสรรพางค์กาย

☀️ "หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร" อยู่ด้วย 
เสมือนท่านช่วยนิมิตให้เกิดไซร้
เป็นอุบายอย่ามัวสุขสบาย 
จะได้ไม่ประมาทพลาดในธรรม
หลวงพ่อแสดงนัยปริศนา 
ปฏิปทา "บารมี" ค้ำ
"สมหวัง" ด้วยรอยแส้แลรอยธรรม 
ด้วยธรรมย้ำคำสอนครูอาจารย์

☀️ บุรุษผู้หนึ่งซาบซึ้งพึงพิศ 
ตรึกตรองจิตพิจเพ่งกัมมัฏฐาน
ปริศนาธรรมคำครูอาจารย์ 
สุดเลิศล้านเมตตาบารมี
ข้าน้อยขอเจริญรอยตามท่าน 
จะฟันผ่านไปในธรรมวิถี
ตามปฏิปทาอาจารีย์ 
ชีวีนี้ถวายแด่ครูอาจารย์

☀️ "ความเพียร" เพียรตามนามหลวงปู่เพียร
"รอยแส้" เฆี่ยนลงคง "รอยธรรม" ท่าน
เป็นคำสอนของบูรพาจารย์
ให้เพียรผ่านพ้นวัฏฏะไป
"บารมี" อยากมีเสมอเหมือน
ต้องเพียรตามคำ "หลวงพ่อ" สอนไว้
"สมหวัง" ตามนาม "ป้าหวัง" เป็นนัย
อาจจะได้ "ธรรมะ" มาครอบครอง

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์ รจนาแทนบุรุษผู้หนึ่ง

☀️ เหตุเกิด ณ ชมรมโพธิธรรม ☀️ 
บ้านชัยพฤกษ์ นนทบุรี


๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

(397) พระพุทธศาสนาและความเป็นมาของชาวไทย ฉบับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต





คำนำ

ท่านทั้งหลาย พวกเราส่วนใหญ่ ต่างก็ได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย และเรื่องราวของพระพุทธศาสนา มาจากการเขียนของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งเป็นการศึกษาแบบทางโลก ที่ศึกษาค้นคว้ามาจากหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ แล้วใช้วิธีสมมุติหรือคาดคะเน และหรือเทียบเคียงเอากับสิ่งที่คิดว่าใช่ ทั้งจากหลักฐานการบันทึกและโบราณวัตถุ จึงอาจได้รับรู้เรื่องราวทั้งจากความเป็นจริงเพียงส่วนหนึ่ง และความไม่เป็นจริงอีกจำนวนมาก ปะปนกันไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือ การศึกษาจากทางธรรม จากพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขั้นพระอรหันต์ ผู้มีอาสวักขยญาณอันกว้างไกล ผู้มีความรู้เห็นทางในอันเป็นสิ่งอัศจรรย์เฉพาะตน ซึ่งเป็นความรู้เห็นเหนือปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่อาจเข้าถึงได้ ดังนั้น การศึกษาแบบทางธรรมนี้ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยกันจะไม่ค่อยมีความกังขาเท่าใดนัก แต่สำหรับปุถุชนหรือสามัญชนคนทั่วไป อาจไม่เชื่อถือก็เป็นได้ จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลกันเอาเองนะครับ

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
13 กรกฎาคม 2558 


พระพุทธศาสนา
และความเป็นมาของชาวไทย
โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
(บันทึกโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)

จากเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ๕ จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้มีผู้นำมาโพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดบันเทิงธรรม กระทู้ ๑๙๑๕๓ โดย : ภิเนษกรมณ์ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙ ดังมีข้อความบางตอนต่อไปนี้....


การครองผ้า - สีผ้า

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า  การครองผ้าแบบพาดบ่าข้างเดียว แล้วมีผ้ารัดอกนั้น เป็นพระราชบัญญัติชั่วคราว ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกประมาณ 100 ปี สาเหตุมีสงครามติดพัน รบกันบ่อยครั้งกับทหารพม่า พวกจารกรรมพม่าแต่งตัวเป็นพระเข้ามาสืบราชการลับ รบคราวใดแพ้ทุกที ผิดสังเกต พระพม่ามักเข้ามาในกองทัพ ไทยคิดว่าเป็นพระไทยจึงรบแพ้ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้นมา ให้พระไทยห่มอย่างว่านั้น พระพม่าที่เข้ามา ก็คือจารบุรุษนั่นเอง ไม่ใช่พระ เมื่อศึกสงครามเลิกแล้ว ก็ยกเลิกพระราชบัญญัติด้วย แต่สมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก คำสั่งไม่ทั่วถึง จึงถือกันมาจนบัดนี้

เรื่องสีผ้านั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สีผ้านั้นพระวินัยกล่าวไว้อย่างชัดเจน คือ สีกรัก สีเหลืองหม่น สีเหลืองคล้ำ และสีอนุโลมอีกสองสี คือ สีเหลืองแก่ และสีมะเขือสุกแก่

ท่านว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบกัน


การฟื้นฟูศาสนาในประเทศไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นี้ ท่านปรารภหลายวาระหลายสถานที่ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความชราภาพของพระองค์ทั้งสองว่า

"ตถาคตและพระองค์ก็ย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว ไม่ช้าตถาคตก็จะปรินิพพาน และก็เช่นกัน พระองค์ก็จะเสด็จสวรรคต ตถาคตไม่กลับมาสู่ภพนี้อีก ส่วนพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร และเป็นพระสหายของตถาคต ยังต้องกลับมาสร้างบารมีต่อ ถ้าคราวใดศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ขอพระองค์ทรงกลับมาฟื้นฟูด้วย"

ต่อมาไม่นาน พระโอรสวิฑูฑภะก่อการกบฏขึ้นในแผ่นดิน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จหนีไปยังแคว้นมคธ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอชาตศัตรู แต่พระองค์เสด็จไปไม่ทัน ประตูเมืองถูกปิดลงเสียก่อน ด้วยความชราภาพและเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตร ที่ศาลาที่พักคนเดินทางนอกประตูเมือง นี่แหละหนอ สังสารวัฏ มีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าคงจะทรงเห็นเหตุอันนี้ จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างนั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล นั้นเอง ที่มาทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเมื่อถึงจุดนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเสริมสร้าง นักฟื้นฟู นักบูรณะ นักปฏิสังขรณ์ ทรงทำสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น ทำสิ่งที่ผิดจากของเดิมให้เข้าสู่ที่เดิม ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนการซ่อมบำรุงวัตถุใช้งานที่เสื่อมสภาพ ให้มีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม ผู้เล่าจะไม่กล่าวโครงสร้างฟื้นฟู เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้มากแล้ว จะกล่าวเฉพาะผลงานด้านการศึกษา การพระศาสนา และการปกครองแผ่นดิน ภาษาอังกฤษก็ตรัสได้เป็นคนแรกของชาวไทย ภาษาบาลีก็เป็นพระมหาเปรียญ ทรงรจนาพระคาถาและพระปริตรต่างๆ ไว้มาก มีอรรถรสอันลึกซึ้ง และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ติดอันดับโลก

การปรับปรุง เสริมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะภัยแห่งสงครามเป็นภัยใหญ่

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้แก่พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจของชาวอยุธยาเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบติดกันเกิดขึ้น ชายทุกคนต้องเป็นทหารออกรบ หญิงทั้งสาวทั้งแก่ก็ต้องร่วมออกรบ ส่งเสบียง ไถนา ดำนาสารพัด แม้แต่พระสงฆ์ก็คงจะระส่ำระสายช่วยอยู่ด้านหลัง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก

ความเป็นผู้แพ้มีแต่ทุกข์กับทุกข์ เจ็บป่วยจากการเหน็ดเหนื่อยในสงครามเอย บาดแผลจากคมหอกคมดาบเอย อดอยากเอย ซากศพทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง ทั้งตายเก่าตายใหม่ เรื่องเหล่านี้คือเหตุแห่งความเสื่อมของศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มมาฟื้นฟู

ทุกท่านยอมรับผลงานของพระองค์ ว่าตามความจริงในปัจจุบัน การศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ ล้วนเป็นผลงานของพระองค์ การศึกษาวิทยาการทางพระพุทธศาสนาก็ดี การปกครองคณะสงฆ์ก็ดี การปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติทรงพระวินัยก็ดี การเจริญแสวงหาวิเวกเดินรุกขมูลธุดงค์ก็ดี พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์ พอเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ แม้ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยอมรับว่าได้แบบอย่างมา รองจากครั้งพุทธกาล ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นแบบฉบับตลอดมา

เมื่อครั้งพระองค์เสด็จจาริกธุดงค์จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ไปตามฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักตามชายทุ่งชายป่า ใกล้อุปจารคาม เจริญสมณธรรม หากมีชาวบ้านมาฟังธรรม ก็แสดงธรรมให้ฟัง ให้ได้ประโยชน์ทั้งตน ผู้อื่น และพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน

พอถึงสุโขทัย กำลังหาที่พัก ชาวบ้านก็มากราบถวายพระพรว่า มีดอนแห่งหนึ่งเป็นดอนศักดิ์สิทธิ์ ปกติชาวบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป เพราะเคยมีพระเข้าไป แล้วแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อสถานที่นั้น ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเดือดร้อน แต่พระองค์ทรงรับรองกับชาวบ้านว่า นี้คือเจ้าของป่าดอนนั้น หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น พระองค์จะตายแทน ชาวบ้านก็ยินยอม อาราธนานิมนต์พระองค์ไปพัก เดินจงกรมเจริญสมณธรรมที่นั่น พระองค์ได้ไปพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงโดยบังเอิญ ขากลับทรงนำกลับมาไว้ที่กรุงเทพฯ

นี้คือตัวอย่างการออกจาริกธุดงค์กัมมัฏฐาน ที่ทรงทำเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

(พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วว่า ภายหน้าจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลำดับที่ 3 เมื่อนับพระเมตไตรย เป็นลำดับที่1 และจะมีพระนามว่า พระธรรมราชา - ภิเนษกรมณ์)


บุคลิกพิเศษของท่านพระอาจารย์


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท จนกระทั่งวาระสุดท้าย เรียกว่าครบบริบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ผล คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันนี้เป็นผลของความมักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ท่านพระอาจารย์มั่น ทำได้สม่ำเสมอ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิต จนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

ธุดงควัตรของท่าน คือ บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ที่จะไปถวาย ถ้าเป็นจีวรสักผืนหนึ่ง ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เรียกว่าผ้าก็แล้วกัน ถ้าจะถวายท่าน เขามักจะไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางใกล้ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง ท่านเห็นก็บังสุกุลเอา บางผืนก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ผู้ไม่รู้อัธยาศัยไปถวายกับมือ ท่านจะไม่ใช้

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในยุค 2,000 ปี เป็นสาวกที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ ด้วยลักษณะภายนอกและภายใน เพราะเหตุนั้นชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เกียรติคุณของท่าน จึงขจรขจายถึงทุกวันนี้ แทนที่จะเป็น 60 ปีแล้วก็เลือนหายไป กลับเพิ่มขึ้นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะบุคลิกของท่านนั้น เป็นบุคลิกที่สมบูรณ์แบบ ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์ในยุคนี้

ขอให้ท่านสังเกตดูในรูปภาพ คิ้ว คาง หู ตา จมูก มือ และเท้า ตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านเดินทางข้ามเขาไปไม่รู้กี่ลูก จนเท้าพอง ไม่ใช่เท้าแดงหรือเท้าเหลือง

คิ้ว ท่านมีไฝตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝอันนี้เป็นจุดดำเล็กๆ ไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน 3 เส้น ไม่ยาวมาก และโค้งหักเป็นตัวอักษร ก เป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น ขณะท่านปลงผมจะปลงขนนี้ออกด้วย แต่จะขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก

ใบหูของท่าน มีลักษณะหูยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาไก่ป่า บางคนอาจไม่เคยเห็นไก่ป่า คือ เป็นวงแหวนในตาดำ มือของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน

หลวงปู่หล้าท่านก็เคยเล่าว่า เวลาล้างเท้าหลวงปู่มั่น เห็น ฝ่าเท้าของท่านเป็นลายก้นหอย 2 อัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้า เหมือนกากบาท เวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์จะไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านจะไปมองดู จะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า

รอยนิ้วเท้าก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก 2 อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน (หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะหลวงปู่จันทร์โสมพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้ถวายการนวดหลวงปู่มั่น เมื่อท่านหลับแล้ว หลวงปู่ได้พลิกดูฝ่ามือของหลวงปู่มั่น พบว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง และมือท่านก็นิ่มมาก)

บุคคลทุกระดับ เมื่อเข้าไปถึงท่านแล้ว ท่านจะเป็นกันเองมาก คุยสนุกสนานเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลที่มักจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ท่านจะไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่ ถามคำไหนได้คำนั้น ถ้าไม่ถามท่านก็นั่งเฉย

ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดว่า

"ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะกับเรา จะเป็นญาติโยมก็ดี หรือเป็นพระสงฆ์ก็ดี ขอให้เก็บหอกเก็บดาบไว้ที่บ้านเสียก่อน อย่านำมาที่นี่ อยากมาปฏิบัติ มาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้านำหอกนำดาบมา จะไม่ได้ฟังเทศน์ของพระแก่องค์นี้"

แม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ป.2-3-4 ท่านก็ทำเป็นเพื่อนได้ ในความรู้สึกของผู้เล่าผู้อยู่ใกล้ชิด เวลาท่านอยู่กับเด็ก กิริยาของท่านก็เข้ากับเด็กได้ดี เพราะฉะนั้นความโดดเด่นของท่าน ใครเข้าไปแล้วกลับออกมาก็อยากเข้าไปอีก ใครได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว กลับออกมาก็อยากฟังอีก

อันนี้คืออานิสงส์ที่ท่านตั้งปณิธานว่า ข้าพระองค์ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาจนจบ จึงได้ตั้งปณิธานเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า คือ องค์สมณโคดมนี้ (ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเสนาบดีแห่งแคว้นกุรุ - ภิเนษกรมณ์) หลังจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดจนชาติปัจจุบันมาเป็นท่านพระอาจารย์มั่น

ทีนี้ทำไมท่านจึงละความปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าตัวเรานี้ปรารถนาพุทธภูมิจึงมาสร้างบารมี ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เขาคิดอยู่ในใจเหมือนกับเรานับไม่ถ้วน ผู้ที่ออกปากแล้วเหมือนกับเราก็นับไม่ถ้วน ผู้ที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วก็นับไม่ถ้วน และผู้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามีอีกหลายองค์ เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าปเสนทิโกศล กว่าจะถึงวาระของเรา มันจะอีกนานเท่าไหร่ เราขอรวบรัดตัดตอนให้สิ้นกิเลสในภพนี้เสียเลย ท่านพิจารณาเช่นนี้ จึงได้ละความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า


อริยวาส อริยวงศ์

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ มีชาวกรุงเทพมหานครไปกราบนมัสการ ถวายทานฟังเทศน์ และได้นำกระดาษห่อธูปมีเครื่องหมายการค้ารูปตราพระพุทธเจ้า (บัดนี้รูปตรานั้นไม่ปรากฏ) ตกหล่นที่บันไดกุฏิท่าน พอได้เวลาผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ปฏิบัติท่านตามปกติ พบเข้าเลยเก็บขึ้นไป พอท่านเหลือบมาเห็น ถามว่า "นั่นอะไร"

"รูปพระพุทธเจ้าขอรับกระผม"

ท่านกล่าว "ดูสิคนเรานับถือพระพุทธเจ้า แต่เอาพระพุทธเจ้าไปขายกิน ไม่กลัวนรกนะ"

แล้วท่านก็ยื่นให้ผู้เล่า บอกว่า "ให้บรรจุเสีย"

ผู้เล่าเอามาพิจารณาอยู่ เพราะไม่เข้าใจคำว่า "บรรจุ" จับพิจารณาดูพระพักตร์เหมือนแขกอินเดีย ผู้เล่าอยู่กับท่านองค์เดียว ท่านวันยังไม่ขึ้นมา

ท่านพูดซ้ำอีกว่า "บรรจุเสีย"

"ทำอย่างไรขอรับกระผม"

"ไหนเอามาซิ"

ยื่นถวายท่าน ท่านจับไม้ขีดไฟมาทำการเผาเสีย และพูดต่อว่า

"หนังสือธรรมะสวดมนต์ที่ตกหล่นขาดวิ่นใช้ไม่ได้แล้ว ก็ให้รีบบรรจุเสีย กลัวคนไปเหยียบย่ำ จะเป็นบาป"

ผู้เล่าเลยพูดไปว่า "พระพุทธเจ้าเป็นแขกอินเดียนะกระผม"

ท่านตอบ "หือ คนไม่มีตาเขียน เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นแขกหัวโตได้"

ท่านกล่าวต่อไปว่า

"อันนี้ได้พิจารณาแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย พระอนุพุทธสาวกในยุคพุทธกาล ตลอดถึงยุคปัจจุบัน ล้วนแต่ไทยทั้งนั้น ชนชาติอื่น แม้แต่สรณคมน์และศีล 5 เขาก็ไม่รู้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ดูไกลความจริงเอามากๆ เราได้เล่าให้เธอฟังแล้วว่า ชนชาติไทย คือ ชาวมคธ รวมรัฐต่างๆ มีรัฐสักกะ เป็นต้น หนีการล้างเผ่าพันธุ์มาในยุคนั้น และชนชาติพม่า คือ ชาวรัฐโกศล เป็นรัฐใหญ่ รวมทั้งรัฐเล็กๆ จะเป็นวัชชี มัลละ เจติ เป็นต้น ก็ทะลักหนีตายจากผู้ยิ่งใหญ่ด้วยโมหะ อวิชชา มาผสมผสานเป็นมอญ (มัลละ) เป็นชนชาติต่างๆ ในพม่าในปัจจุบัน"

(พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย ในความหมายนี้ หมายถึงพระพุทธเจ้าและคนไทยเป็นเชื้อสายเดียวกัน : ความเห็นของ ดร.นนต์)

"ส่วนรัฐสักกะใกล้กับรัฐมคธ ก็รวมกันอพยพมาสุวรรณภูมิ ตามสายญาติที่เดินทางมาแสวงโชคล่วงหน้าก่อนแล้ว"

ผู้เล่าเลยพูดขึ้นว่า "ปัจจุบัน พอจะแยกชนชาติในไทยได้ไหม ขอรับกระผม"

"ไม่รู้สิ อาจเป็นชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงตุงในพม่าก็ได้"

ขณะนั้นท่านวันขึ้นไปพอดี ตอนท้ายก่อนจบ ท่านเลยสรุปว่า

"อันนี้ (หมายถึงตัวท่าน) ได้พิจารณาแล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น"

ผู้เล่าพูดอีกว่า "แขกอินเดียทุกวันนี้คือพวกไหน ขอรับกระผม"

ท่านบอก "พวกอิสลามที่มาไล่ฆ่าเราน่ะสิ"

"ถ้าเช่นนั้นศาสน์พราหมณ์ ฮินดู เจ้าแม่กาลี การลอยบาปแม่น้ำคงคา ทำไมจึงยังมีอยู่ รวมทั้งภาษาสันสกฤตด้วย"

"อันนั้นเป็นของเก่า เขาเห็นว่าดี บางพวกก็ยอมรับเอาไปสืบต่อๆ กันมาจนปัจจุบัน ส่วนพวกเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ละทิ้งหมดแล้ว เราหนีมาอยู่ทางนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็ทำตาม"

ท่านยังพูดคำแรงๆ ว่า "คุณตาบอดตาจาวหรือ เมืองเรา วัดวา ศาสนา พระสงฆ์ สามเณร เต็มบ้านเต็มเมืองไม่เห็นหรือ" (ตาบอดตาจาว เป็นคำที่ท่านจะกล่าวเฉพาะกับผู้เล่า)

"แขกอินเดียเขามีเหมือนเมืองไทยไหม ไม่มี มีแต่จะทำลาย โชคดีที่อังกฤษมาปกครอง เขาออกกฎหมายห้ามทำลายโบราณวัตถุ โบราณสถาน แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่มีร่องรอยให้เราเห็น อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลย ตัวเธอเองนั่นแหละ ถ้าได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จ้างเธอก็ไม่ไปเกิด"

"ของเหล่านี้นั้น ต้องไปตามวาสตามวงศ์ตระกูล อย่างเช่น วงศ์พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยตระกูล เป็นวงศ์ที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ คุณแปลธรรมบทมาแล้ว คำว่า ปุคฺคลฺโล ปุริสาธญฺโญ ลองแปลดูซิว่า พระพุทธจะเกิดในมัชฌิมประเทศ หรืออะไรที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นที่อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ทุกแห่งตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์ ถึงวันนั้นพวกเราอาจจะไปอยู่อินเดียก็ได้"

"พระพุทธเจ้าทรงวางพุทธศาสนาไว้ จะเป็นระหว่างพุทธันดรก็ดี สุญญกัปปก็ดี ที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แต่ชนชาติที่ได้เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยประเพณี อริยนิสัย ก็ยังสืบต่อไปอยู่ ถึงจะขาด ก็ขาดแต่ผู้ได้สำเร็จมรรคผลเท่านั้น เพราะว่าจากบรมครู ต้องรอบรมครูมาตรัสรู้ จึงว่ากันใหม่"

ผู้เล่าได้ฟังมาด้วยประการฉะนี้แล


ความเป็นมาของชาวไทย


พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์ เป็นเจติยสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศสุวรรณภูมิ ที่เรียกว่า "แหลมทอง" คือประเทศไทยในปัจจุบัน

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น พิเศษคือ มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถอันกว้างไกล เห็นว่า พระพุทธศาสนามารวมเป็นกระจุกอยู่ที่ชมพูทวีป หากมีอันเป็นไปจากเภทภัยต่างๆ พระพุทธศาสนาอาจสูญสิ้นก็ได้ จึงมีพระประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ สำหรับพระสงฆ์สายต่างๆ ผู้เล่าจะไม่นำมากล่าว จะกล่าวเฉพาะที่มายังสุวรรณภูมิประเทศ ตามที่ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟัง

ท่านที่เป็นหัวหน้ามาสุวรรณภูมิคราวนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกไว้ คือ ท่านพระโสณะ และท่านพระอุตตระ

การส่งพระสงฆ์ไปประกาศพุทธศาสนาคราวสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น อย่าเข้าใจว่า จัดแจงบริขารลงในบาตรและย่าม ครองผ้าเสร็จก็ออกเดินทางได้ ต้องมีการจัดการเป็นคณะมากพอสมควร รวมทั้งพระสหจร และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ด้วยเป็นกระบวนใหญ่ การเดินทางรอนแรมระยะไกลไปต่างประเทศ พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้า และสหจร ท่านคงมีสายญาติ และญาติโยมผู้เคารพนับถือตามไปด้วย คงไม่ปล่อยให้ท่านเหล่านั้น เดินทางไปลำบาก ต้องมีคณะติดตามเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือหุงหาเสบียงอาหารในระหว่างเดินทาง อีกอย่างหนึ่ง หากพบภูมิประเทศที่เหมาะสม ก็ตั้งถิ่นฐานแสวงโชคอยู่ที่สุวรรณภูมิประเทศได้ จึงได้พากันมาเป็นกระบวนใหญ่

ชนชาติเจ้าของถิ่นเดิม ที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิประเทศมีอยู่แล้ว แต่คงไม่มาก หากมีอันตรายจากสัตว์ร้าย และเภทภัยต่างๆ มาย่ำยีเบียดเบียน การป้องกันก็ลำบาก เพราะกำลังไม่พอ นครปฐมคงเป็นที่รวมชุมชน กระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนักแสวงโชคจากชมพูทวีป คงเอาที่นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ชาวสุวรรณภูมิก็คงได้ยินกิตติศัพท์เช่นกัน จึงต้อนรับด้วยความยินดี

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ดี การแสวงโชคของญาติโยมที่ตามมาก็ดี ได้รับการสนับสนุนด้วยดี ประกอบกับผืนแผ่นดินก็กว้างใหญ่ไพศาลอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาถิ่นเดิมก็ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย และศีล5 มีการสร้างวัดถวาย คงเป็นวัดพระปฐมเจดีย์เดี๋ยวนี้ ส่วนนักแสวงโชคก็คงประกอบสัมมาอาชีพไปตามความสามารถ และปฏิบัติพระสงฆ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน นี้คือชนชาวชมพูทวีปที่ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก

นักแสวงโชคเหล่านั้น เมื่อประสบโชคแล้ว แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น ก็นึกถึงญาติๆ ทางชมพูทวีป กลับไปบอกข่าวสารแก่ญาติๆ จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามกันมาอีก

ลุศักราชประมาณ 500 ถึง 900 ปี หลังพุทธปรินิพพาน อาเพศเหตุร้ายก็เริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากชนชาติชาวเปอร์เซีย ในปัจจุบัน คือ แถบตะวันออกกลาง เกิดมีลัทธิอย่างหนึ่งขึ้นมา ในปัจจุบันคือ ศาสนาอิสลาม ได้จัดขบวนทัพอันเกรียงไกร รุกรานเข้าสู่ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน อินเดียสมัยนั้น มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัยของชาวชมพูทวีปทั้ง7รัฐ รวมทั้งชาวศากยวงศ์ของพระองค์ อยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง การเตรียมรบจึงไม่เพียงพอ เมื่อกองทัพอันเกรียงไกรยกเข้ามา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบสิ้นชาติก็เกิดขึ้น การหนีตายอย่างทุลักทุเลของรัฐเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนาลันทาเอย พระเวฬุวันเอย พระเชตวันเอย บุพพารามเอย รวมทั้งพระสงฆ์เป็นหมื่นๆ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้แล้ว ตายเป็นเบือราบเรียบเป็นหน้ากลอง

ชาวรัฐโกศลและรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น ลิจฉวี มัลละ ก็ทะลักเข้าสู่ดินแดนชเวดากอง คือ พม่า มอญ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ชาวมคธรัฐ มีเมืองราชคฤห์เป็นราชธานี ก็หนีตามสายญาติที่เดินทางมาก่อนแล้ว มุ่งสู่สุวรรณภูมิ รวมทั้งรัฐเล็กรัฐน้อย มีรัฐสักกะ โกลิยะ และอื่นๆ ก็ติดตามมาด้วย แยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปทางโยนกประเทศ คือ รัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในพม่า และเลยไปถึงมณฑลยูนนานของประเทศจีน

รัฐใหญ่ในครั้งพุทธกาล คือ รัฐมคธ เป็นไทยในปัจจุบัน รัฐโกศล คือ พม่า (เมียนมาร์ในปัจจุบัน) ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พม่าและไทย พระพุทธเจ้าทรงโปรดและตรัสสอนเป็นพิเศษ สองประเทศนี้จึงมีพระพุทธศาสนาที่มั่นคงมายาวนาน และจะยาวนานต่อไป แต่พม่าเป็นเมืองเศรษฐีอุปถัมภ์ สมัยเป็นชาวโกศล ก็มีคหบดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกะและนางวิสาขาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่ไทยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พิเศษกว่าพม่า

ชาวพม่ามีอุปนิสัยทุกอย่าง โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ เหมือนคนไทย เป็นมิตรคู่รักคู่แค้น จะฆ่ากันก็ไม่ได้ จะรักกันก็ไม่ลง ท่านว่าอย่างนี้ สมัยพุทธกาล รัฐมคธมีปัญหาอะไรก็ช่วยกัน บางคราวก็รบกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มาเป็นไทยเป็นพม่า ก็รบกัน ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้ว

ส่วนพระปฐมเจดีย์นั้น ผู้เล่ากราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ ท่านตอบว่า คงจะสร้างเป็นอนุสรณ์การนำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ฟังแต่ชื่อก็แล้วกัน ปฐมก็คือที่หนึ่ง คือ พระเจดีย์องค์แรก ท่านกล่าวต่อไปว่า คงบรรจุพระธาตุพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุด้วย เมื่อมีการบูรณะแต่ละครั้ง ผู้จารึกเรื่องราว มักบันทึกเป็นปัจจุบันเสีย ประวัติศาสตร์เบื้องต้นจึงไม่ติดต่อ ขาดเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนนั้นสร้างบ้าง คนนี้สร้างบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น

คำพูดแต่ละยุค มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ย้อนถอยหลังกลับไป คำว่า ประเทศพม่า คนไทยจะไม่รู้จัก รู้จักพม่าว่า เมืองมัณฑะเลย์หรือหงสาวดี และคนพม่าก็จะไม่รู้จักคำว่า ประเทศไทย จะรู้จักไทยว่า เมืองอโยธยา เรื่องราวเหล่านี้ ผู้เล่าได้ฟังมาจากท่านพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ชอบ

ต่อไปจะได้เล่าเรื่องชนชาวไทย ชนชาวลาว

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็คือชาวนครราชคฤห์ หรือรัฐมคธ เช่นเดียวกับชาวไทย ไทยและลาวจึงเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่หนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาคนละสาย ลาวเข้าสู่แดนจีน จีนจึงเรียกว่า พวกฮวน คือ คนป่าคนเถื่อนที่หนีเข้ามา โดยชาวจีนไม่ยอมรับ จึงมีการขับไล่เกิดขึ้น (ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ว่า ไทยมาจากจีน เห็นจะเป็นตอนนี้กระมัง)

ความจำเป็นเกิดขึ้น จึงมีการต่อสู้แบบจนตรอก ถอยร่นลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ตามสายญาติ คือ ไทย สู่สิบสองจุไทย สิบสองปันนา หนองแส และแคว้นหลวงพระบาง ปัจจุบันก็ยังมีคนไทยตกค้างอยู่

พอถอยร่นลงมาถึงนครหลวงพระบาง เห็นว่าปลอดภัยแล้ว และภูมิประเทศก็คล้ายกับนครราชคฤห์ จึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น และอยู่ใกล้ญาติที่สุวรรณภูมิด้วย คือ นครปฐม เป็นพวกที่มาตั้งอยู่ก่อน และพวกที่เข้ามาตอนหนีตายคราวนั้น

การสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นมาโดยราบรื่น โดยให้ชื่อว่า "กรุงศรีสัตตนาคนหุต" (เมืองล้านช้าง) จนถึงพระเจ้าโพธิสารเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์มีราชโอรส 2 พระองค์ ชื่อเสียงท่านไม่ได้บอกไว้ พอเจริญวัย พระเจ้าโพธิสารทรงเห็นว่า เมืองปัจจุบันคับแคบ มีภูเขาล้อมรอบ ขยายขอบเขตยาก การเกษตรกรรมทำนาไม่เพียงพอ และเพื่อเป็นการขยายอาณาจักรด้วย จึงส่งราชโอรสองค์ใหญ่ ไปตามลำแม่น้ำโขง มาถึงเวียงจันทน์ จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น มีเมืองหลวงชื่อว่า "กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต"

ส่วนพระราชโอรสองค์น้อง ได้ไปตามลำน้ำน่าน มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่สุโขทัย โดยมีเมืองหลวง ชื่อว่า "กรุงสุโขทัย" ท่านพระอาจารย์แปลให้ฟังด้วยว่า "สุโขทัย" แปลว่า "ไทยเป็นสุข" เหตุที่อยู่ที่นี้เพราะปัจจัยในการครองชีพเอื้ออำนวย และใกล้ญาติทางนครปฐม ไปมาหาสู่ก็สะดวก ท่านว่าอย่างนี้

นครปฐมก็มีเมืองหลวง คือ "ทวาราวดีศรีอยุธยา" ที่เรียกว่า ยุคทวาราวดี นั่นเอง เวียงจันทน์จึงเป็นพระเจ้าพี่ สุโขทัยเป็นพระเจ้าน้อง นครปฐม สุโขทัย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ก็คือ ชนชาติชาวราชคฤห์ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง

การอพยพหนีตายคราวนั้น บางพวกลงเรือข้ามทะเล ไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราชก็มี ซึ่งมีพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นสักขีพยานว่า ชาวใต้ทั้งหมดก็เป็นชนชาติรัฐมคธในครั้งพุทธกาล เหมือนกันกับชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ก็คือ ชาวโกศล ในครั้งพุทธกาลนั้นเอง


พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระอริยบุคคลในยุครัชกาลที่ 4 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 4 นั้นเอง เป็นองค์แรก

ท่านเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระสหาย เพื่อปลดเปลื้องคำปฏิญญาที่พระพุทธเจ้าได้ให้ไว้ เมื่อเสด็จออกผนวชครั้งแรก (พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบพระโพธิสัตว์สิทธัตถะเมื่อทรงออกผนวชแล้ว และได้ตรัสปฏิญญาว่า "ถ้าพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงเสด็จมาที่แว่นแคว้นของหม่อมฉันก่อน" พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสารไว้ -ภิเนษกรมณ์)

พระชาติปัจจุบันของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นชาติที่ 7 ชาติสุดท้าย ทรงแตกฉานในจตุปฏิสัมภิทาญาณ อย่างสมบูรณ์แบบในยุคนี้

ท่านพระอาจารย์ยกตัวอย่าง ความสามารถที่ไม่มีใครเทียบสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า แต่ก่อนพวกบัณฑิตที่เรียนบาลี คือ มูลกัจจายน์คัมภีร์ สนธิ-นาม ต้องเรียนถึง 3 ปี จึงแปลบาลีออก สมเด็จฯ ทรงรจนาบาลีไวยกรณ์ให้กุลบุตรเล่าเรียน ในปัจจุบัน 3 เดือน ก็แปลหนังสือบาลีออก นั่นอัศจรรย์ไหมท่าน

ท่านพระอาจารย์เล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรจนาวินัยมุขเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมตรี จิตของพระองค์กำหนดวิปัสสนาญาณ 3 ที่กล่าวมาแล้ว คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ได้บรรลุชั้นสกิทาคามี

ต่อมาพระองค์เสด็จประพาสสวนหลวง เมืองเพชรบุรี ทรงรจนาธรรมวิจารณ์ พระหฤทัยของพระองค์ก็บรรลุพระอนาคามี

พระองค์ทรงมีภาระมาก ดูจะทรงรีบเร่งเพื่อจัดการศึกษา และปฏิบัติสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประกอบกับสุขภาพของพระองค์ ก็อย่างที่พวกเราเห็นในพระฉายาลักษณ์นั้นเอง ดูจะทรงงานมาก ผอมไป และยุคนั้นการแพทย์ก็ไม่เจริญ แต่พระองค์ก็บำเพ็ญกรณียกิจ จนเข้ารูปเข้ารอย จนพวกเราสามารถจะประสานต่อไปได้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นสังขารของพระองค์ ว่าไปไม่ไหวแล้ว จึงเร่งวิปัสสนาญาณ สำเร็จพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน

นี่คือคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่นที่ผู้เล่าได้ฟังมา


ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่วัดป่าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ชื่อ คำดี ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ท่านเป็นคนช่างพูด มักถามนั่นถามนี่กับท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเป็นผู้ช่วยอุปัฏฐาก ไม่ค่อยพูดจา เพราะขณะนั้นยังใหม่อยู่

วันหนึ่งท่านคำดีได้พูดปรารภขึ้นว่า "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ น่าอัศจรรย์ กระผมอ่านพุทธประวัติแล้ว ขนลุกชูชัน"

ท่านพระอาจารย์ก็รับว่า "จริงอย่างนั้น อันนี้(หมายถึงตัวท่าน)ได้พิจารณาแล้ว และได้อ่านพุทธประวัติที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเล่าเรียนศึกษา พระองค์ทรงได้แย้มความมหัศจรรย์เอาไว้ตั้งแต่ทรงออกผนวชครั้งแรก จนถึงวันตรัสรู้ แต่ผู้ศึกษาไม่ซึ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์ ว่าเป็นอย่างไร"

ท่านว่า "อันนี้ได้พิจารณาแล้ว สมเด็จฯ พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งยุคสองพันกว่าปี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดๆ เทียม"

ท่านพระอาจารย์มั่น ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้ว่า เป็นพระสาวกผู้ทรงไว้ซึ่งจตุปฏิสัมภิทาญาณสมบูรณ์แบบ ในยุคพุทธศาสนาผ่านมาได้ 2,000 กว่าปี คือ พระองค์เดียวเท่านั้น

ดูท่านพระอาจารย์จะยกย่องเอามากๆ ขนาดกล่าวว่า พระองค์ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมบาลี ให้กุลบุตรได้รับการศึกษา จากพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยน ทั้งย่อและพิสดารได้อย่างเข้าใจ ใช้ภาษาง่ายๆ และไพเราะมาก จะเป็นปัญญาชนหรือสามัญชนอ่าน ก็เข้าใจได้ทันที

ท่านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพรรณนาความตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา อาการของพระมหาบุรุษปรากฏว่า ขณะที่บรรดาพระสนมทรงขับกล่อม บำเรอ ไม่ทรงเพลิดเพลิน แล้วทรงบรรทมหลับไป เมื่อตื่นบรรทม ทางเห็นอาการวิปลาสของพระสนมว่า บางคนมีพิณพาดอก บางคนตกอยู่ข้างรักแร้ เปลือยกาย สยายผม บ่นเพ้อพึมพำ น้ำลายไหล ปรากฏในพระหฤทัย เหมือนซากศพผีดิบในป่าช้า

พระอาจารย์มั่นท่านว่า ขณะนั้นพระหฤทัยของพระองค์ พิจารณากิจในอริยสัจ 4 อย่าง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่อริยมรรค ต่อมาภายหลังทรงบัญญัติเรียกว่า อริยโสดาบัน จึงตัดสินพระทัยว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว จึงเสด็จออกผนวชในคืนนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จเข้าสู่มคธรัฐ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ตอนไปทรงศึกษากับดาบสทั้งสองนั้น จิตของพระองค์ก็บรรลุมรรคที่สอง คือ สกิทาคามี

ผู้เล่าสงสัยขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนั้นการบรรลุธรรมครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า จะไม่สมกับคำว่า "ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง" ดอกหรือ

แต่ไม่ทันได้เรียนถาม ท่านแถลงก่อนว่า

"ดาบสทั้งสองได้ฌานสมาบัติ 7-8 อรูปพรหมเท่านั้น แต่ท่านทั้งสองขาดวิปัสสนา ปัญญาญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์สำหรับพระองค์ จึงเป็นครูของพระองค์ไม่ได้"

ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้

ท่านพรรณนาถึงพุทธประวัติไว้หลายวาระ จะนำมากล่าวสักสองวาระ

พระอาจารย์มักพูดพลางหัวเราะด้วยความชอบใจ ในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา เมื่อลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เดินไม่สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ในช่องพระกรรณทั้งสอง ทำให้เกิดทุกขเวทนากล้าจนปวดพระเศียร เสียดในพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง ก็ยังไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวาระใหม่ โดยผ่อนพระกระยาหารลงจนไม่เสวยเลย จนพระวรกายผอมโซ ซูบซีด ขุมเส้นพระโลมาเน่า ทรงลูบเส้นพระโลมาก็หลุด เพราะขุมขนเน่า มีกำลังน้อย ทรงดำเนินไปมาก็เซล้ม มีผิวดำคล้ำ จนมหาชนพากันโจษขานกันไปต่างๆ นานา

ก่อนท่านจะพูดต่อ ก็มีอาการยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงพอเหมาะ ดูคล้ายท่านจะพอใจในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

"มหาชนบางพวกพอเห็นก็กล่าวขวัญกัน ว่าทรงดำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่าไม่ใช่ดำ คล้ำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่คล้ำ พร้อยไปบ้าง อย่างนี้ จนเหลือกำลังที่บุรุษไหนจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ จึงได้อุปมา 4 ข้อ ในพระหฤทัย ทรงเสวยพระกระยาหาร ทรงมีกำลัง"

ท่านพระอาจารย์ว่า ตอนพระองค์ทรงเริ่มวิปัสสนาญาณ เป็นคำรบสาม พระหฤทัยของพระองค์ก็ทรงกระทำญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เหมือนสองวาระแรก จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่มรรคที่สาม คือ อนาคามีมรรค

ท่านเล่าว่า มหาบุรุษอย่างพระองค์ ทรงกระทำอะไรไม่สูญเปล่า

อา....เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณนี้  ท่านอธิบายได้ละเอียดวิจิตรพิสดาร มาเชื่อมโยงตั้งแต่ เอเต เต ภิกขเวฯ มัชฌิมา ปฏิปทา ฯ ลฯ จนถึง ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ถึง อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ

พระมหาบุรุษอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ พระบารมีของพระองค์ทรงบำเพ็ญมาพอแล้ว ด้านปัญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย หนีจากพระองค์ไป ความวิเวกก็เกิดขึ้น วันเพ็ญ เดือน 6 แห่งฤกษ์วิสาขะก็มาถึง นางสุชาดาจะแก้บน จึงถวายข้าวมธุปายาสในภาชนะซึ่งเป็นถาดทองคำ เพื่อให้มั่นพระทัย พระองค์จึงอธิษฐานลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชราว่า

"ถ้าจะได้ตรัสรู้ในวันนี้ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำ"

คำข้าวมธุปายาสก็มี 49 คำพอดี พอจะรักษาพระวรกายของพระองค์ไปได้ตลอด 49 วัน ท่านพูดอย่างนี้

เมื่อความพร้อมทุกอย่าง ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นสัพพัญญุตัญญาณ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ก็เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6นี้แล โดยไม่มีใครมาแสดงอ้างว่าเป็นครูหรือเป็นศาสดาของพระองค์เลย

ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า

"จู่ๆ มาถึงวันนั้น จะมาตรัสรู้เลยทีเดียวไม่ได้ พระองค์ได้พื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแล้ว ตั้งแต่อยู่ในปราสาท วันเสด็จออกผนวชนั้นแล มิฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงกระทบกระทั่งต่อสัญญาอารมณ์ต่างๆ ในระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร คงถอยหลังกลับไปเสวยราชสมบัติอีก เพราะเบื้องหลังของพระองค์ก็พร้อมอยู่ จึงถอยไม่ได้ เพราะมีหลักประกันแล้ว" ท่านอธิบายจนจบ

ผู้เล่าเฉลียวใจว่า "ถ้าอย่างนั้น ยสกุลบุตร ก็คงสำเร็จมาจากปราสาทล่ะสิ"

"ยสกุลบุตร เป็นไปไม่ได้ เพราะวิสัยอนุพุทธะ ต้องฟังก่อนจึงจะรู้ได้ ไม่เหมือนสัมพุทธะอย่างพระพุทธเจ้า"

แล้วท่านยังเตือนผู้เล่าว่า "ปฏิบัติไปหากมีอะไรเกิดขึ้น จงใช้สติกับปัญญา สติกับปัญญา สติกับปัญญา" ย้ำถึง 3 ครั้ง

"รับรองว่าไม่ผิดแน่ เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูคือ พระธรรมวินัย ขาดครูคือ เจ้าของพระธรรมวินัย คือ บรมครู"

ท่านว่าอย่างนี้

ขอขอบคุณ คุณภิเนษกรมณ์
ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-06-05.htm