ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ธรรมทาน

ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ทางธรรม

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

(471) ธรรมปฏิบัติสัญจรภายใต้บารมีธรรม หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ 2559




ธรรมปฏิบัติสัญจรวาระพิเศษ 
ใต้บารมีธรรม หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ
วัดเขาถ้ำเทพพิทักษ์ ต.วังท่าช้าง
อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
4-6 พฤศจิกายน 2559

ท่านทั้งหลาย ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียน ครูบาแกะ และญาติธรรมจากวัดโคกปราสาทอีก 5 ท่าน ประกอบด้วย อุบาสิกาป้าหวัง ปลัดจุ๋ม หนูนา น้องรุ้ง และน้าฝน ได้เดินทางไปกราบและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ พระสุปฏิปันโน ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ณ วัดเขาถ้ำเทพพิทักษ์ ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีเมตตาต่อทุกคน ท่านแสดงธรรมตามวาระบุคคล และให้โอวาทแนะนำข้อธรรมต่างๆ ที่ตรงกับจริตนิสัย แก่คณะพวกเรานานหลายชั่วโมง พร้อมกับแนะนำให้พวกเราขึ้นไปภาวนาในถ้ำตามอัธยาศัย

ประวัติโดยสังเขป 

หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ เป็นชาวยโสธรโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนแปด ปีจอ ตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม 2501 บิดาชื่อนายใหม่ มีศิริ มารดาชื่อนางกอง มีศิริ อุปสมบทเมื่ออายุ 23 ปี ในวันที่ 27 มิถุนายน 2524 ณ วัดวิโสธนาราม ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร โดยมีพระเทพสังวรญาณ(หลวงตาพวง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมธรบัว สันตจิตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระประสิทธิ์ โฆสวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ปัจจุบัน(2559) อายุ 59 ปี 36 พรรษา

หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ หรือพระครูสิทธิปัญญาวุธ เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ขาว อนาลโย และเคยศึกษาธรรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์และพระอริยเจ้าอีกหลายองค์ อาทิ หลวงปู่ท่อน หลวงตาบัว หลวงปู่จันทา หลวงตาพวง หลวงปู่มหาปราโมทย์ หลวงปู่กูด พระอาจารย์แดงวัดไม้ขาว หลวงปู่เหรียญ หลวงปู่เทศก์ หลวงปู่สิม หลวงปู่เจี๊ยะ และหลวงปู่แหวน เป็นต้น

ธรรมโอวาท
หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ

หลวงปู่เมตตาแสดงธรรมโอวาทแก่คณะพวกเรา ทั้งสองวันนานหลายชั่วโมง ผู้เขียนขอน้อมนำเอาธรรมโอวาทบางส่วนมาเผยแพร่ เพื่อเป็นธรรมทาน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั้งหลาย แม้จะเป็นธรรมสั้นๆ แต่ธรรมโอวาทนั้น ได้กระแทกถึงใจพวกเราอย่างลึกซึ้ง อาทิ

·      คนบางคนแม้จะอยู่ใกล้และจับชายจีวรของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้า แต่บางคนอยู่ไกลพระพุทธเจ้า กลับได้เห็นพระพุทธเจ้า

·      สถานที่ไหนๆก็ดีพร้อม แต่คนนั้นพร้อมที่จะปฏิบัติจริงหรือยัง

·      ดูคนอย่าดูแค่ตอนเป็นหนุ่มสาว ให้ดูตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนกระทั่งตาย

·      ให้ปิดประตูกิเลส อย่าเปิดหลายประตู เปิดเพียงประตูเดียว จึงจะรู้ทันกิเลสได้ (ผู้เขียน : อายะตะนะทั้งหก เป็นประตูแห่งกิเลส ให้ปิดประตูทวารเหลือเพียงประตู "ใจ" อันเดียว ให้กิเลสมันเข้ามาทางใจอันเดียว จึงจะรู้ทันกิเลสได้)

·      การภาวนาถ้าทำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญ เหมือนเราปั่นจักรยานนั่นแหละ ถ้าปั่นเป็นหรือฝึกปั่นจนชำนาญก็ปั่นได้คล่องแคล่ว

·      เวลานั่งดูหนัง นั่งเล่นไพ่ ไม่ต่างกันนะ นั่งภาวนาได้ 1 ชั่วโมง ไม่ต้องแปลกใจ นั่งเหมือนกัน เพียงแค่เราทำความเพียรต่างกัน เพียรทำชั่วหรือเพียรทำดี เลือกเอา

·      จะตกขอบถนนอยู่แล้ว ยังบอกว่าทางสายกลางอีก กลางกิเกสนั่นแหล่ว



ภูมิที่ดีมีคุณต่อการภาวนา

ในการมาปฏิบัติภาวนาของคณะพวกเรา ณ วัดเขาถ้ำเทพพิทักษ์ในครั้งนี้ มีความอัศจรรย์เป็นปัจจัตตัง รู้เห็นเฉพาะตนเกิดขึ้นหลายอย่าง อาทิเช่น อุบาสิกาแห่งวัดโคกปราสาท ท่านเล่าให้ฟังว่า คืนแรก ขณะที่พวกเราภาวนาอยู่ในถ้ำมุจลินท์นิมิตรัตนมณี มีพญานาคหนุ่มตนหนึ่ง เข้ามาแอบมองสาวๆในคณะพวกเรา ตามจริตนิสัยของโลก แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็อยู่ในอาการสำรวม และอนุโมทนากับคณะของพวกเรา

ต่อมาในคืนที่สอง ขณะที่คณะอุบาสิกาแห่งวัดโคกปราสาท ได้ไปพักภาวนาอยู่ในถ้ำมืด ว่ากันว่า เป็นถ้ำที่หลวงปู่สมใจ ท่านอาศัยภาวนาอยู่นานถึง 7 ปี ในถ้ำแห่งนี้ มีญาติธรรมบางท่านเห็นดวงธรรมสว่างไสวลอยอยู่ในถ้ำ ส่วนอุบาสิกาแห่งวัดโคกปราสาทเล่าให้ฟังว่า มีพรหมเทวดาจำนวนมากมาปรากฏกายให้เห็น บางส่วนก็มาสนทนากับท่าน และมีเทวดาผู้มีทิฏฐิบางตนสงสัยว่า พวกท่านพากันมาทำอะไรในสถานที่แห่งนี้ อุบาสิกาตอบว่า

"พวกเราขออนุญาตหลวงปู่มาภาวนาในถ้ำนี้แล้ว พวกเรามาเพียร เพื่อละกิเลสออกจากใจ มิได้มีดีมาอวดเก่งเบ่งใส่ผู้ใด มีแต่ความปรารถนาที่อยากจะพ้นทุกข์ จึงได้พากันมาอาศัยสถานที่แห่งนี้ ด้วยอาศัยบารมีธรรมของหลวงปู่ เพื่อหาทางพ้นทุกข์เท่านั้น" เมื่อเทวดาทราบในเจตนาที่แท้จริงแล้ว ต่างก็พากันอนุโมทนาสาธุการ






อัศจรรย์ในมหาทาน

ท่านทั้งหลาย ในเช้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559 อันเป็นวาระวันถวายผ้ากฐินประจำปีนี้ของวัดเขาถ้ำเทพพิทักษ์ ขณะที่มีพิธีใส่บาตรแด่หลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ และพระภิกษุสงฆ์ บุรุษผู้หนึ่งได้น้อมจิตอธิษฐาน เพื่อถวายข้าวใส่บาตรให้เป็นมหาทาน เพื่ออุทิศแด่สรรพวิญญาณและผู้มาร่วมในงานพิธีนี้ โดยการปฏิบัติตามที่หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร พระสุปฏิปันโนแห่งวัดโคกปราสาท เคยบอกสอนไว้ โดยการอธิษฐานว่า

"ทานที่ข้าพเจ้า แม้จะเป็นข้าวสุกเพียงเล็กน้อย ไม่มีค่ามากมาย แต่เต็มไปด้วยศรัทธา ขอให้หลวงปู่และผู้รับทาน เมื่อรับแล้วจงพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วจงจำแนกแจกแจงทานนี้ แด่สรรพวิญญาณทั้ง 31 ภพภูมิ ทั้งที่อยู่ในบริเวณนี้ และทั่วทั้งสามแดนโลกธาตุ หมื่นโลกธาตุ ทั่วทั้งจักรวาลไปถึงอนันตจักรวาล เมื่อจำแนกแจกทานแล้ว ไม่ว่าโลกนี้และโลกหน้า ขอให้ได้รับถ้วนทั่วกันเทอญ"

เมื่ออธิษฐานจิตจบลงแล้ว บุรุษผู้หนึ่งมีโอกาสได้ใส่บาตรหลวงปู่เป็นบุคคลแรก เสมือนเป็นความดลใจ เมื่อข้าวตกลงถึงก้นบาตรของหลวงปู่แล้ว พลันคลื่นปีติยินดีได้แผ่ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์อย่างรวดเร็ว ประหนึ่งว่าพรหมเทวาและสรรพวิญญาณทั้งหลาย ต่างกล่าวสาธุการในมหาทานครั้งนี้ ความรู้สึกนี้ มันเกิดปีติรับรู้อยู่ภายในใจ เสมือนเป็นการยืนยันในมหาทาน มหาทานที่ได้ใส่บาตรพระอริยเจ้า ดั่งที่หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร บอกไว้ทุกประการ ความอัศจรรย์ที่ว่านี้ มันเป็นปัตจัตตัง จะจริงหรือเท็จประการใด ผู้เขียนมีปัญญาน้อย ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย จงพิจารณากันเอาเองเถิด






วาจามหามงคล

ก่อนกลับ ชาวคณะศิษย์วัดโคกปราสาท ได้เข้าไปกราบลาหลวงปู่สมใจ ปัญญาวุโธ ขณะที่บุรุษผู้หนึ่งได้ก้มลงกราบที่ตักของหลวงปู่ จิตมันสะเทือน เสมือนว่าเคยเป็นพ่อลูกกันมาก่อน อยากจะสวมกอดท่าน แต่ก็อดกลั้นไว้ในฐานะอันควร ส่วนหลวงปู่ท่านก็มีเมตตาจับลูบคลำศรีษะของบุรุษผู้นี้ไปมาอยู่นาน พร้อมกับเอ่ยวาจาอันเป็นมหามงคลว่า

..."ได้บวชแน่ๆ บวชใจมานานแล้วนี่ นี้กายก็พร้อมแล้ว ได้บวชแน่ๆ"...

วาจาอันเป็นมหามงคลนี้ หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร แห่งวัดโคกปราสาท ท่านก็ได้พยากรณ์ และให้สัญญาณแก่บุรุษผู้นี้ไว้ก่อนแล้ว ก็คงอีกไม่นาน ความจริงจะได้ปรากฏขึ้นภายในปีสองปีนี้

อนึ่ง... บุรุษผู้หนึ่งได้สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความรู้เห็นกับพระสุปฏิปันโน ผู้เป็นอาคันตุกะในกุฏิรับรอง ต่างก็อัศจรรย์ในสภาวะแห่งกระแสธรรมที่เข้าถึงในภูมิต่างๆ ของกันและกัน และไม่สงสัยในภูมิธรรมอันเป็น "สุปฏิปันโน" ของท่าน เพราะธรรมเป็นอันเดียวกัน จึงนับเป็นความรู้ความเห็นและประสบการณ์ที่ดีอีกวาระหนึ่ง

"ใจถึงใจ ใจถึงธรรม ธรรมถึงใจ"

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
8 พฤศจิกายน 2559



วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

(461) ธรรมปฏิบัติสัญจร และศิลปะวัฒนธรรม เกาหลีใต้ ปี 2559




เสียงธรรมจากลมทะเล
ณ อูลซาน เกาหลีใต้
20 สิงหาคม 2559

 ....ธรรมชาติหมุนไปตามโลก
....ใจหมุนไปตามธรรม
....เรียนโลก เพื่อรู้ธรรม ตามพระพุทธเจ้า.... 

ท่านทั้งหลาย ในโอกาสที่ผู้เขียนได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ในครั้งนี้ จึงอยากนำเอาประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมา รวมทั้งกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ มาเขียนเล่าสู่กันฟัง ดังเรื่องราวต่อไปนี้

เมื่อไปถึง Daewangam Park เมืองอูลซาน (Ulsan) เกาหลีใต้ จริตนิสัยมันพออกพอใจในเสียงลมเสียงทะเล จึงขอปลีกตัวไปนั่งภาวนาบนโขดหิน เมื่อนั่งลง กายพร้อมใจพร้อม จิตก็สงบลง พร้อมกับมีสติรู้ว่า อายะตะนะทั้งหลายก็ทำหน้าที่ของใครของมัน หูก็ทำหน้าที่รับเสียง เสียงลมเขาก็ทำหน้าที่ของเขา พัดผ่านใบไม้ใบหญ้าคราใด เสียงก็ดังหวีดหวิว เสียงคลื่นทะเลเขาก็ทำหน้าที่ของเขา ซัดกระแทกโขดหินเสียงก็ดังซาดซ่าน เสียงลมเสียงคลื่นประสานกันดังหวีดหวิว ซะ ซู่ๆ เสียงนี้มันดังก้องกังวาลในจิตมากที่สุด จึงว่าเป็นเสียงหลัก เสียงผู้คน เสียงนก เสียงจั๊กจั่นเรไรดังสอดแทรกขึ้นมา จึงเป็นเสียงรอง ส่วนเสียงหายใจแลเสียงต่างๆหนักเบาจึงเป็นส่วนประกอบ ต่างทำหน้าที่ประสานเสียงคละเคล้ากันไปทุกเศษเสี้ยววินาที ยิ่งจิตสงบลงมากเท่าไร สติผู้รู้ก็แยกแยะเสียงได้ชัดเจนมากเท่านั้น เมื่อจิตมั่นคงแล้ว เสียงลมเสียงคลื่นดังก้องกังวาลขึ้นในใจ กลบเสียงอื่นทั้งหมด จิตก็สว่างสงบไปตามกำลังของสมาธิ

ไม่เพียงแต่หูจะทำหน้าที่ ผิวกายทุกส่วนก็ทำหน้าที่ไปพร้อมกัน เมื่อแรงลมพัดวูบปะทะผิวกาย สติผู้รู้ก็สัมผัสร้อนเย็นวูบวาบ แล้วก็ดับไปตามแรงลม ลมพัดแรงมากายก็เอนไปตามแรงลม เมื่อแรงลมอ่อนกายก็เอนกลับมาตั้งตรง เกิดๆดับๆ สลับกันไป คลุกเคล้ากันไป ทั้งแรงลม เสียงลมเสียงคลื่น เสียงจั๊กจั่นเรไร แลเสียงผู้คน

ไม่เพียงแต่หูและผิวกายที่ทำหน้าที่ ใจก็ทำหน้าที่ของใจ ธรรมารมณ์ใดบังเกิดขึ้น สติผู้รู้ก็ตามรู้ว่า มันพออกพอใจ หรือหงุดหงิดรำคาญไหม หรือว่ามันเฉย พยายามนั่งดูมันไปว่า ใจมันจะหวั่นไหวและเอนไปกับเสียงกับแรงลมนั้นหรือไม่ หรือใจยังหนักแน่นมั่นคงดีอยู่

ไม่เพียงแต่อายะตะนะทั้งหก บางช่วงมีคลื่นสัมผัสประหลาดแผ่ซ่านเข้ามากระทบกับจิตใจ จิตสัมผัสคลื่นปีติแลทุกข์ เสมือนจากผู้ที่ไม่มีตัวตนได้ ก็เป็นแค่นามธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้นน้ำตามันจะไหลออกมาหรือตกเข้าไปข้างในใจบ้าง ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ตนมีหน้าที่เพียงแค่รู้ดูอยู่

นั่งหลับตาไป พิจารณาไป ใจมันก็เพลิดเพลินในธรรม ในธรรมชาติว่า มันก็เกิดๆดับๆ ไม่มีตัวตน นั่นเพราะเป็นธรรมชาติของมัน แต่ใจเราเป็นผู้ทุกข์สุข ก็เพราะกำหนดรู้ทันมันบ้าง ไม่รู้ทันบ้าง ก็ขึ้นกับกำลังของสติและปัญญาในขณะนั้น

อันนี้ก็ว่ากันไปตามจริต ตามวาสนาของใครของมัน ดังนั้น เรื่องเล่านิทานธรรมนี้ เป็นแต่เพียงประสบการณ์ขั้นพื้นฐานของนักภาวนา จึงมิควรนำไปเป็นครูอาจารย์ อุปมา เสมือนว่าเป็นเสียงคลื่นทะเลกระทบฝั่ง แล้วก็หายไป จึงขอให้อ่านเล่นเป็นแต่เพียงนิทานธรรมเท่านั้น






บุพกรรมเด็กเกาหลีเล่นหัว
และสภาวธรรมในต่างแดน
21 สิงหาคม 2559

ท่านทั้งหลาย ว่ากันว่า ประชาชนชาวเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน คล้ายจีนและทิเบต ส่วนศาสนสถานเกี่ยวกับวัดจะมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คณะพวกเราโชคดีที่เพื่อนชาวเกาหลีใต้ จัดโปรแกรมให้ไปชมวัดที่สำคัญ ซึ่งอยู่นอกเมืองอูลซาน (Ulsan) คือ Seokguram Grotto และ Bulguksa Temple ซึ่งทั้งสองวัดแม้จะตั้งอยู่ห่างกันเป็นกิโลเมตร แต่ก็ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ของมรดกโลก (World Heritage) รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะทั้งสองแห่งถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกันโดยผู้นำชื่อ Kim Dae-seong ตรงกับช่วงรัชสมัยของกษัตริย์แห่งอาณาจักรชิลลาชื่อ Gyeongdeok สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 751 มีอายุราว 1,265 ปี



เมื่อคณะพวกเรานั่งรถยนต์ไต่ระดับความสูงไปถึงยอดเขา Gyeongju คณะพวกเราได้เข้าไปเยี่ยมชมวัดซึคกูร์อาม กร็อตโต (Seokguram Grotto) และกราบสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่แกะจากหินแกรนิตสีขาวเรียกว่า Seokguram Bonjonbul พระพุทธรูปองค์นี้สวยงามมาก และจัดเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุดของความเป็นมรดกโลก และที่วัดแห่งนี้ เห็นผู้คนชาวเกาหลีใต้ หลั่งไหลขึ้นมาชมและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็สวดมนต์ บ้างก็นั่งสมาธิ บ้างก็ขอพร คล้ายๆกันกับบ้านเรา ส่วนผมเองและอาจารย์บุญเกิด ศรีสุขา ได้ขอเวลานั่งภาวนาสมาธิในวิหารหลังเล็กนาน 30 นาที สมาธิก็สงบสว่างดี บางช่วงใจเสมือนได้สัมผัสกับความปีติยินดีของผู้ที่ไม่มีตัวตน สลับกับการพิจารณาความศรัทธาของผู้คน จิตก็ปีติอิ่มเอมดีในการมา ณ สถานที่แห่งนี้






เด็กเกาหลีเล่นหัว
แต่พระเกาหลีพนมไหว้

ต่อมา คณะพวกเราเข้าไปชม Bulguksa Temple ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา วัดแห่งนี้ บริเวณกว้างขวางร่มรื่นและดูสัปปายะดีมาก หมู่คณะจึงให้เวลาบุรุษผู้หนึ่งกับอาจารย์ธรรมรัตน์ นาคจรัส ปลีกตัวออกไปนั่งภาวนาในวิหารนาน ชั่วโมง

ท่านทั้งหลาย ในขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง นั่งภาวนาและพิจารณาธรรมอยู่นาน ขณะจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ได้ปรากฏมีเด็กชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งหรือสองคนไม่ทราบได้ เข้ามาลูบคลำศรีษะบุรุษผู้นี้ และขยำไปมานานพอควร เมื่อเห็นว่าบุรุษผู้นี้ไม่ไหวติง เขาก็เดินจากไป แต่ไม่นานเด็กก็ย้อนกลับมาลูบคลึงศรีษะเขาอีกรอบ พร้อมกับเขย่าศรีษะ แต่บุรุษผู้นี้ก็ยังนิ่งเฉย ยังรักษาธรรมและสมาธิเอาไว้ได้ จนในที่สุดเจ้าหน้าที่วัดได้ห้ามปรามเด็กนั้นไว้ เรื่องจึงจบลง

ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของเด็กนี้หรอก เพราะยังหลับตาทำสมาธิอยู่ แต่ใจก็สะเทือนในกรรมที่จะบังเกิดขึ้นกับเด็กคนนี้ ก็ได้แต่สงสารและอโหสิกรรม ไม่โกรธไม่ถือโทษเอา เพราะเขาไม่รู้ จึงได้แต่อภัยและแผ่เมตตาออกไป ขณะเดียวกัน บุรุษผู้นี้ได้ย้อนกลับมาพิจารณาว่า มันเป็นบุพกรรมอันใดหนอ ทำไมในภพชาตินี้ เราจึงถูกผู้คนมาลูบคลำขยำศรีษะเล่นในขณะนั่งภาวนา รวมถึงสัตว์เข้ามาทดสอบความอดทนหลายครั้งหลายครา อาทิ

1) ขณะนั่งภาวนาอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร ณ ศาลาวัดโคกปราสาท ครูอาจารย์ทางโลกทิพย์ได้มาทดสอบว่า เขาละสักกายทิฏฐิได้จริงหรือไม่ ด้วยการดลให้ชายผู้หนึ่ง แสร้งเป็นบ้าเข้ามาขยำลูบคลำศรีษะบุรุษผู้นี้ ต่อหน้าต่อตาผู้คนจำนวนมาก แต่บุรุษผู้นี้ก็ยังหลับตานิ่งเฉย ยังรักษาธรรมและสมาธิเอาไว้ได้ พร้อมกับให้อภัย เพราะใจมันวางเฉย

2) ขณะไปภาวนาอยู่บนยอดดอยแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ก็ถูกญาติธรรมเข้ามาทดสอบด้วยการเคาะศรีษะ และสับมะเหง็ก อย่างแรงเสียงดังปังๆ ต่อหน้าต่อตาญาติธรรมหลายคน แต่บุรุษผู้นี้ก็ทนได้และให้อภัย

3) แมงขี้นาก เข้ามาดูดกัดกินน้ำมูกน้ำเลือด ขณะนั่งภาวนาอยู่บนยอดเขาจอมทองนานเกือบชั่วโมง ทรมานเจ็บแสบปวดร้าวเป็นที่สุด แต่ก็สามารถรักษาธรรมและสมาธิเอาไว้ได้

4) วัวน้อยเข้ามาทดสอบขณะนั่งภาวนาอยู่ในกระท่อม ข้างวัดโคกปราสาท ด้วยการเลียหน้า เลียแขน เลียไปทั้งตัว น้ำลายเหนียวหนืดเหม็นคาวคลุ้งเปียกแฉะไปทั้งตัว เมื่อเลียไม่ได้ผล เขาจึงใช้หัวดันตัวบุรุษผู้นี้ จนโยกไปโยกมา แต่บุรุษผู้นี้ก็ยังรักษาธรรมและสมาธิเอาไว้ได้

ท่านทั้งหลาย เมื่อบุรุษผู้นี้ย้อนกลับมาพิจารณาซ้ำ รวมเข้ากับวาระคราวนี้ จิตเกิดสังเวชตัวเองว่า หรือเราเคยสร้างกรรมหนัก ด้วยการปรามาสเล่นหัวครูอาจารย์ หรือลูบคลำศรีษะผู้กำลังภาวนา หรือลูบคลำเศียรพระพุทธรูปมาก่อนในอดีตชาติหรืออย่างไร กรรมจึงได้มาสนองในภพชาตินี้ พิจารณาไป ใจก็สังเวชในบุพกรรมของตนเอง จึงน้อมรับในผลกรรมนั้น พลันน้ำตาก็หลั่งไหลออกมา อดกลั้นน้ำตาเอาไว้ แต่น้ำตานั้นกลับไหลตกเข้าไปข้างในใจ ด้วยความสะเทือนใจในผลกรรมเป็นที่สุด

เมื่อใกล้เวลาออกจากสมาธิ จิตแผ่เมตตาออกไป คลื่นปีติยินดีก็แผ่ซ่านกลับมาที่ใจ เสมือนผู้ไม่มีตัวตนอนุโมทนากลับมา เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จึงเดินลงจากวิหารกลับมาหาหมู่คณะ ขณะเดียวกัน ได้มีพระชาวเกาหลีใต้รูปหนึ่ง เดินยิ้มผ่านมาพร้อมกับพนมมือไหว้ เสมือนแสดงออกอะไรบางอย่าง บุรุษผู้นี้จึงไหว้ตอบ จากความนอบน้อมต่อกันในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ความดีของชาวพุทธ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างนิกาย แต่หัวใจก็เป็นหนึ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนา ต่างก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้า และปรารถนาไปสู่ที่เดียวกันคือ ความพ้นทุกข์ ดังนั้น ชาวพุทธ จึงมักเห็นผู้มีธรรม เคารพในผู้มีธรรม อยู่เป็นประจำ






สภาวธรรมของอาจารย์ต๋อย
บังเกิดขึ้นครั้งแรกในต่างแดน

ท่านทั้งหลาย เป็นที่น่าปีติยินดีในสภาวธรรมของอาจารย์ต๋อย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณาจารย์คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ที่เดินทางร่วมกันเพื่อไปลงนามสัญญาความร่วมมือทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม กับคณะออกแบบ มหาวิทยาลัยชิลลา เมืองบูซาน เกาหลีใต้ อาจารย์ต๋อยเป็นผู้ใฝ่ในธรรม และได้อธิษฐานว่า ขอให้ได้พบกับครูอาจารย์ทางธรรม และขอให้ได้ออกบวชปฏิบัติธรรมในกาลข้างหน้า ซึ่งการมาที่เกาหลีใต้ในครั้งนี้ ขณะที่พักอยู่ในโรงแรม เขาได้ถือโอกาสฟังธรรม และร่วมนั่งภาวนาสมาธิกับบุรุษผู้หนึ่ง เมื่อจิตเขาน้อมรับในธรรมด้วยความศรัทธา จิตพิจารณาตาม นั่งภาวนาไปไม่นาน จิตก็สงบรวมพรึบลง พร้อมกับเกิดแสงสว่างไสวปรากฏขึ้น จึงเกิดความอัศจรรย์อย่างไม่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน เขาจึงรำพึงรำพันแลปีติยินดีในกุศลที่บังเกิดขึ้น พร้อมกับกำลังใจและความตั้งมั่น ที่จะติดตามไปปฏิบัติธรรม เพื่อค้นหาความพ้นทุกข์ด้วยกันต่อไป

หมายเหตุ... เรื่องเล่านิทานธรรมทั้งหมดนี้ มิได้มีเจตนาจะยกตัวตนผู้ใดขึ้นมาให้เกิดความศรัทธา และขออย่าได้นำไปเป็นครูอาจารย์เป็นอันขาด ขอให้อ่านเล่นเป็นแต่เพียงประสบการณ์ และเป็นคติธรรมเตือนใจสำหรับนักภาวนาเท่านั้น สุดท้ายขออนุโมทนากับคณาจารย์ผู้ร่วมเดินทาง คณะเจ้าภาพชาวเกาหลีใต้ และผู้เข้ามาอ่านเจอบทความนี้ ทุกท่านเทอญ






โลกเจริญเพราะความดี
ศิลปะและวัฒนธรรมเกาหลีใต้
20-23 สิงหาคม 2559

อูลซานเมืองสวรรค์บนดิน

ท่านทั้งหลาย เท่าที่ทราบจากเพื่อนชาวเกาหลีใต้ ว่ากันว่า สังคมโดยรวมของเมืองอูลซาน (Ulsan) ที่พวกเราพัก เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศเกาหลีใต้ รองจากกรุงโซล และบูซาน อูลซานนับเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก เป็นเมืองของคนรวย ผู้คนมีฐานะดีแทบทั้งเมือง เท่าที่สังเกตเห็น เมืองนี้เสมือนมีชนชั้นเดียว ฐานเงินเดือนของประชาชนก็สูง หากเทียบกับบ้านเราเงินเดือนสามหมื่นบาทก็ว่ามากแล้ว แต่มาตรฐานเงินเดือนแบบปรกติของคนที่นี่ ก็ปาเข้าไปราวแปดหมื่นบาทขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพของเขาก็แพงกว่าบ้านเราอยู่ดี




บรรยากาศเมืองอูลซาน Ulsan

วัฒนธรรมการแต่งกาย

พอยามค่ำคืน เมืองอูลซานและเมืองบูซาน เต็มไปด้วยแสงสี ตึกอาคารต่างประดับประดาด้วยตัวอักษรวิ่ง มีแสงสีวิ่งสลับสว่างไสว ดูระยับสวยงามตา ผู้คนก็แต่งกายตามสไตล์ที่นิยมของเขา บ้างก็นุ่งน้อยห่มน้อยตามสภาพอากาศที่อบอุ่นเย็นสบาย เพื่อโชว์ผิวกายอันขาวผ่อง บ้างก็ขีดคิ้วเขียนตา ทาปากด้วยเครื่องสำอางค์ที่ทันสมัย หรือศัลยกรรมความงาม พองามตา จนกลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาถึงบ้านเรา และกลายเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายข้ามชาติ ที่ได้รับความนิยมไปหลายประเทศ

เราผู้เป็นแขกมาเยือนเมืองสวรรค์แห่งนี้ จึงได้นั่งพิจารณาผู้คนของเมืองนี้ พวกเขาคงเป็นผู้มีบุญมาเกิดเป็นแน่ เพราะต่างจากผู้คนในประเทศอินเดียที่เราเคยไป ราวฟ้ากับดิน ที่นี่เห็นผู้คนเดินขวักไขว่ ดูเสมือนไร้ซึ่งความทุกข์ ต่างเสพสุขสมตามอารมณ์หมาย เสมือนดั่งเมืองสวรรค์บนดินมิปาน เพราะดูจากพื้นฐานโดยรวมแล้ว ผู้คนมีศีลธรรม มารยาทนุ่มนวลและมิตรภาพที่ดี บ้านเมืองเขาก็ดูสะอาดเรียบร้อยดี ไม่มีแผงสินค้าข้างถนนเหมือนบ้านเรา ผู้คนเสมือนมีชนชั้นเดียว ไม่เห็นคนจน ขอทาน หรือจับกัง เห็นแต่ผู้คนหน้าตาสะอาดสะอ้านคล้ายคลึงกัน ไม่เห็นตำรวจ ไม่มีทหารเหมือนบ้านเรา รถรามากแต่ไม่วุ่นวาย ไม่มีรถบันทุก รถปิ๊กอัพ รถมอเตอร์ไซค์ รถซาเล้ง หรือรถไซเลนโหวกเหวกเหมือนบ้านเรา ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์และสายเคเบิ้ลที่รกรุงรังจนขายขี้หน้าเหมือนบ้านเรา ทุกอย่างดูสะอาดและมีระเบียบ ดูไปก็งามตา น่าหลงใหล ยิ่งในเวลาตอนเช้า แม้สายแล้วก็ตาม บ้านเมืองเขากลับเงียบสงบ ถนนโล่งโจ้ง ผู้คนหายไปไหนกันหมด ยิ่งวันอาทิตย์แล้วไซร้ เขาบอกให้พวกเราไปหาอาหารกินกันเอาตอน โมง เพราะว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนของเขา หยุดพักผ่อนก็ต้องพักจริงๆ เวลาทำงานเขาก็ขยันทำจริงๆ นี้คือวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่






บรรยากาศย่านตลาดช็อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดของเมืองบูซาน Busan


วัฒนธรรมอาหาร

วัฒนธรรมอาหารของชนชาวเกาหลี มีหลากหลายเหมือนกันกับทุกชาติ ข้าวเขานุ่มสวยหอมอร่อยมาก จนต้องพูดว่า "มาชิโซโยว" (อร่อยมาก) มื้อหนึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารหลายอย่าง เช่น แกง ซุป ผักดอง สาหร่าย หรือผักสดต่างๆ รสชาติอาหารก็คล้ายๆบ้านเรา ไม่จืดชืดเหมือนอาหารของคนจีนหรือคนไต้หวัน โดยเฉพาะต้นฉบับเนื้อย่างเกาหลีแท้นั้น เนื้อนุ่มอร่อยมาก ส่วนเรื่องราคานั้น แพงกว่าบ้านเราพอควร สังเกตจากอาหารที่พวกเรารับประทานกัน มื้อละราว สองถึงสามแสนวอน หรือราว 5-7 พันบาท สำหรับสิบห้าคน พวกเรากินกันไป พออกพอใจในอาหาร ก็หัวเราะชอบใจกันไป แต่โดยภาพรวม ยังไงอาหารบ้านเราก็ถูกปากเราอยู่ดี เพราะความเคยชิน เป็นของใครของมัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจอยู่ ตั้งแต่มาถึงเกาหลีใต้ ยังไม่พบเห็นคนอ้วน คนดำ มีแต่คนสวยสดงดงาม อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมอาหารการกิน ที่มีผักประกอบเป็นหลัก หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะอากาศดีด้วยก็เป็นได้ ก็สมกับการเป็นเมืองสวรรค์บนดินของคนมีบุญ





ความดีของศิลปะ

ท่านทั้งหลาย ประเทศหรือบ้านเมืองที่เจริญแล้ว ผู้คนเขาจะให้ความสำคัญกับงานทางด้านศิลปะมากที่สุด ด้วยเหตุแห่งความงามทางด้านศิลปะ ให้ผลทางด้านจิตใจ ควบคู่กันไปกับความเจริญทางด้านวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยคานกันไว้ไม่ให้สุดโต่ง เพราะหากจะเจริญแต่ทางด้านวัตถุถ่ายเดียว ความเสื่อมทางด้านจิตใจก็ตกต่ำลงได้ ศิลปะจึงมีผลต่อทางด้านจิตใจ แบบกลางๆ คือให้ผลทางความดี ไม่มีข้อขัดแย้งเหมือนกับศาสนา เพราะศาสนาแม้จะมีความดีสูงสุดกว่าศิลปะ แต่ในความต่างทางความเชื่อทางด้านศาสนา ทำให้เกิดสงครามความเชื่อกันได้ แต่ศิลปะไม่ได้สร้างปัญหาเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเราชาวพุทธ ย่อมน้อมรับว่า "พระพุทธศาสนา" มีความดี ไม่มีความคิดขัดแย้งกับผู้ใด จึงมีค่าสูงสุดมากกว่าศิลปะหรือสิ่งใดๆในโลก



การเดินทางมาเกาหลีใต้ในครั้งนี้ นอกจากพวกเราชาวคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดยการนำของท่านคณบดี ผศ.ชิดชัย สายเชื้อ และคณาจารย์ 10 ท่าน ไปร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับคณะออกแบบ มหาวิทยาลัยชิลลา (Silla University) เมืองบูซาน (Busan) เกาหลีใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมกันแล้ว คณะพวกเรายังได้ไปเยี่ยมชมผลงานศิลปะ และพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในเมืองอูลซานและบูซาน อาทิ

ไปชมผลงานศิลปะของคณบดี คณะการออกแบบ มหาวิทยาลัยชิลลา เมืองบูซาน เธอคือ Professor Seo, Eun Kyeong. นอกจากเธอจะเป็นคณบดีหญิงแสนสวยแล้ว เธอยังเป็นโปรเฟสเซอร์ทางด้านศิลปะ และมีผลงานแสดงอยู่ที่หอศิลป์ของโรงพยาบาลในกรุงบูซาน โดยเจ้าของโรงพยาบาลมีนโยบายให้นำเอาศิลปะมาไว้ใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อผลทางด้านจิตใจ ผลงานของเธอดูงดงามเหมือนกับเธอ งดงามทั้งรูปร่างหน้าตาของเธอ งดงามทั้งด้านแนวความคิดที่เธอสื่อสารออกมาว่า ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แทนธรรมชาติ เนื้อหาประกอบภายในเป็นตัวแทนของผู้คน ที่มีความประสานสื่อสารกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อความดีและความสงบสันติสุข





นอกจากนั้น ยังได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจอาจารย์มงคล ทับกลิ่น และอาจารย์ณัฐกมล ตั้งธนะพงศ์ และศิลปินชาวเกาหลีใต้ที่ไปร่วม Art Workshop ณ Bukgu Art Studio เมืองอูลซาน ต่อจากนั้น ได้ไปชมและให้กำลังใจเพื่อนศิลปินหญิงชาวเกาหลีผู้แสนดีคือ Kim Deuk Jin ณ Arioso Gallery Ulsan ซึ่งเธอเคยเดินทางมาทำงานศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นานสองเดือน นอกจากนั้น ได้ไปเยี่ยมชมงานศิลปะที่ Wooyang Museum of Contemporary Art และพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองอูลซาน เป็นต้น


Art Workshop ณ Bukgu Art Studio




ผลงานศิลปะของ Kim Deuk Jin ณ Arioso Gallery Ulsan





ชมผลงานศิลปะ ณ Wooyang Museum of Contemporary Art




ชมผลงานศิลปะ ณ พิพิธภัณฑ์ประจำเมืองอูลซาน 


อนึ่ง ในอดีตเมื่อครั้งเกิดสงครามเกาหลีขึ้นเมื่อหลายสิบปี ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆที่อาสาไปช่วยเกาหลีใต้รบในสงครามครั้งนั้น จนนำมาสู่สันติภาพได้ในที่สุด จนเกิดบทเพลงดัง "อารีดัง" ตามมา ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของพวกเรา ดังนั้น ชาวเกาหลีใต้จึงรักใคร่ชอบพอกับคนไทย เพราะสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาหลายทศวรรษ สุดท้าย จึงขอขอบคุณในความสัมพันธ์ MOU ที่ดีระหว่างกัน จึงนับเป็นความดีที่สืบเนื่องต่อกัน และขอขอบคุณเพื่อนชาวเกาหลีใต้ที่แสนดีทุกคน ที่คอยต้อนรับและอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เสมือนเคยสร้างบุญกุศลร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ Thank Korean friends for nice relationship very much.

...🌸 ประเทศหรือบ้านเมืองใด มีผู้นำดีมีศีลธรรมเพียงหนึ่งคน ก็สามารถนำพาบ้านเมืองเจริญ และผู้คนก็เป็นคนดีได้เกือบทั้งประเทศ แต่ตรงกันข้ามหากประเทศหรือบ้านเมืองใดมีผู้นำที่เลวชั่วเพียงผู้เดียว ก็นำพาผู้คนและประเทศชาติไปสู่ความล่มจมเสียหายได้ทั้งประเทศ... (โอวาทธรรม หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร) ... 🌸

 ท่านทั้งหลาย เมื่อท่านอ่านบทความนี้จบลงแล้ว ก็จงพิจารณากันเอาเองเถิด

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์

30 สิงหาคม 2559